สัพเพเหระในอเมริกา

ความเป็นอิสระจากพ่อแม่ของ เด็กอเมริกัน

ความเป็นอิสระจากพ่อแม่ของ เด็กอเมริกันจากการที่แอดมินได้พึ่งพิงอาศัยอยู่อเมริกานี้สักระยะ ได้พบเจอเด็กวัยรุ่น และพ่อแม่คนไทยที่มีลูกที่นี่ ก็พบว่าเด็กๆที่นี่ส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบค่อนข้างสูง ทำงานเก่งๆกันไม่แพ้พวกผู้ใหญ่เลยทีเดียว เกือบร้อยทั้งร้อยของเด็กเหล่านี้ ให้เหตุผลว่า “อยากเก็บเงินเพื่อย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ค่ะ”


คราวนี้ GoGoAmerica ขอยกมุมมองของคุณ วิธิดา จากหนังสือเรื่อง Thailand Fever เกี่ยวกับความคิดของเด็กอเมริกัน ที่เปรียบเทียบกับเด็กไทยในเรื่องของความเป็นอิสระจากพ่อแม่ มาแชร์ให้กับเพื่อนๆกันค่ะ อ่านแล้วทำให้เข้าใจ และได้เห็นมุมมองของเด็กอเมริกันได้อย่างดีเลยค่ะ

พ่อแม่ทั้งฝรั่งและไทยที่ให้ลูกไปเรียนหนังสือ ก็เพื่อลูกจะได้มีงานหาเลี้ยงชีพเมื่อโตขึ้น แต่ เด็กฝรั่ง มักจะต้องหัดช่วยตัวเองในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน ซ่อมแซมเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เป็นต้น พ่อแม่ไทยก็ฝึกให้ลูกทำงานจิปาถะอย่างนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน หรือมีฐานะปานกลาง แต่ถ้าเรามาดูที่แรงจูงใจนี่สิ มันต่างยังกะฟ้ากับดินเลย

เด็กไทยที่ตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือ หรือช่วยงานในครอบครัว ส่วนหนึ่งจะทำเพื่อพ่อแม่ ถือเป็นการผ่อนแรงพ่อแม่เท่าที่ตัวเองจะมีปัญญา พูดง่ายๆว่า “ยิ่งโตหรือยิ่งเก่ง ก็ยิ่งช่วยเหลือพ่อแม่” ลูกในอุดมคติไทย คือลูกที่โตแล้วเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ ทั้งพ่อแม่ และตัวลูกเองต่างก็ยินดี

สำหรับลูกฝรั่งที่ตั้งอกตั้งใจฝึกความรู้เหล่านี้ เขามีจุดมุ่งหมายต่างออกไป ที่กำลังช่วยตัวเองนั้น ที่จริงก็เพื่อเป็นการค่อยๆไถ่อิสระภาพให้แก่ตนทีละน้อยต่างหาก โดยมีเป้าหมายที่จะค่อยๆเขยิบขึ้น จนสามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนได้โดยสมบูรณ์

ในที่สุดถึงตอนนั้น ไม่มีใครมีสิทธิมาก้าวก่าย ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่พ่อแม่ พูดเด็กอเมริกันง่ายๆว่า “ยิ่งโตยิ่งเก่งก็ยิ่งไม่พึ่งพาพ่อแม่” ลูกในอุดมคติของฝรั่งนั่นคือ ลูกที่สามารถผละออกไปเผชิญโลกได้ตามลำพัง และเอาตัวรอดไดด้วยลำแข้งของตัวเอง เปรียบประดุจนกน้อย ที่ปีกกล้าขาแข็งขึ้นที่ละน้อย จนในที่สุดสามารถบินจากรังเดิม ไปทำรังใหม่ได้ ฝรั่งถือว่าเป็นธรรมชาติของนกที่แก่กล้าที่จะไม่คืนรัง  ดังนั้นจากบินจากรังของลูก ถือว่าเป็นที่ภาคภูมิใจของพ่อแม่

พอแก่ตัวลง ฝรั่งถือว่าคนเราต้องแลี้ยงดูตัวเองแม้ในยามชรา เพราะฉะนั้นเขาจะเตรียมเงินสะสมไว้ใช้ยามแก่เฒ่าอยู่เสมอ เออ..ถ้าสมบัติที่สั่งสมไว้มันเกิดเกลี้ยงคลังขึ้นมาล่ะ อย่างเช่น เกิดล้มเจ็บรักษาพยาบาลกันจนหมดเนื้อหมดตัว และจะทำไง ทีนี้ ถ้าลูกๆเขาใจดี เขาจะยอมช่วยสงเคราะห์พ่อแม่อยู่หรอก แต่ตัวพ่อแม่เองนั่นแหละ ที่จะแอบรู้สึกละอายตัวเองอยู่ในใจ ที่ต้องรับความช่วยเหลือจากลูก ทั้งๆที่ลูกอาจมีฐานะดี ช่วยได้โดยไม่มีปัญหาก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะฝรั่งมีความปรารถนาที่จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระอยู่เสมอ การที่จะต้องพึ่งผู้อื่น (ต่อให้เป็นลูกก็เถอะ) มันขัดหลักการเสียเหลือเกิน

เด็กฝรั่ง โดยทั่วไป พอเข้าวัยรุ่นก็จะมีการออกพยศโดยไร้เหตุไร้ผล ชนิดที่คนไทยเห็นแล้วหงายหลังตึง รับไม่ได้เชียวล่ะ คือว่าวัฒนธรรมฝรั่ง ซึ่งอาศัยทีวีและหนังเป็นสื่อสำคัญ จะแทรกส่งเสริมสอนใจเด็กตลอดเวลา ว่าเด็กที่เก่งจริง จะต้องรู้จักประกาศความกล้าหาญชาญชัย และความเชื่อมั่นในตนเองให้โลกรับรู้ ด้วยการท้าทายผู้ทรงอำนาจอย่างไม่ยำเกรง ทีนี้ “ผู้ทรงอำนาจ” ในโลกแคบๆของเด็กก็หนีไม่พ้น พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์นั่นแหละ จริงไหม? เจ้าลูกฝรั่งช่างพยศ ก็จะคอยหาเรื่องขัดคอขัดใจผู้ใหญ่เสียร่ำไป รู้ว่าผู้ใหญ่ต้องการอะไรก็ขัดไปเสียหมด ทำอย่างนี้ ใครๆจะได้เห็นสักทีว่าแกไม่ใช่เด็กเล็กๆอีกแล้ว

แต่ความเชื่อมั่นในตัวเอง จนสามารถเอาชนะความกลัวอำนาจ หรือกลัวถูกลงโทษได้แล้วนะเนี่ยะ ติ๊ต่างว่าคุณสั่งให้ลูกวัยกระทงไปตัดผมเผ้าให้เรียบร้อยนะ ก็จงเตรียมใจไว้เลยว่า เจ้าเด็กนั่นจะมากับทรงผมเม่นเรืองแสงมันปล๊าบ เดินตัวปลิวกลับบ้านแน่นอน

พ่อแม่ชาวเอเชียที่มีลูกในเมืองฝรั่ง มักตกใจประสาทเสียกับอาการกบฏของลูกในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงใช้วิธีประกบหนักขึ้น กลายเป็นส่งผลให้ปัญหาบายปลายขึ้นอีกโดยไม่รู้ตัว ส่วนขบฏวัยรุ่นตะวันตกนี้ สร้างความเดือดร้อนให้พ่อแม่ฝรั่งเช่นเดียวกัน แต่พ่อแม่ฝรั่งนั้นตั้งใจคอยอยู่แล้วทุกราย แถมยังแอบภูมิใจเงียบๆด้วยซ้ำไป ที่ลูกรักอาจหาญชาญชัยได้ถึงเพียงนี้ แต่เขาไม่บอกลูกเท่านั้นเองแหละ

ยังโชคดีว่าเด็กบางคนอาการพยศอาจไม่รุนแรงนัก สำหรับเด็กที่เหลือ พิษสงมักค่อยๆสลายตัวลงหลังจากผ่านพ้นวัยรุ่นไปแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อแม่ลูกคืนดีกันอีก

เมื่อไหรที่ลูกฝรั่งหาเลี้ยงตัวได้เต็มที่ละก็ เมื่อนั้นก็ถือว่าเขาเป็นอิสระจากอิทธิพลของพ่อแม่โดยสมบูรณ์  เด็กอเมริกันเขาจะดำเนินชีวิตยังไงก็ได้ตามใจชอบ และไม่รู้สึกจำเป็นที่จะเอาใจพ่อแม่อีกต่อไป เนื่องจากในสังคมตะวันตกนะคุณ คนที่ยอมทำอะไรที่ตัวไม่อยากทำ แต่ทำเพียงเพื่อเอาใจผู้อื่นนั้น สังคมจะตราหน้าว่าเป็นคนแหง เป็นลูกแหง่ไม่รู้จักโต

ในทางกลับกัน ลูกไทยที่ดีนั้น จะพยายามคำนึงถึงความรู้สึกของพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่อยู่เสมอ โดยเราไม่คำนึงว่าเราใช้เงินทองของท่านหรือปล่าว แม้จะไม่มีเงินทองเป็นเครื่องผูกมัด เราถูกอบรมมาให้เกรงใจพ่อแม่ จึงอาจยอมโอนอ่อนผ่อนตามหรือประนีประนอมบ้าง เพื่อไม่ให้ท่านผิดหวังจนเกินไป หรือบางคนอาจจะอยากเอาใจท่านเอง

ดังนั้น เมื่อเด็กไทยจะเติบใหญ่ พึ่งตัวเองได้เต็มที่แล้ว ก็อาจจะยังชอบปรึกษาหารือกับพ่อแม่ในเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องการงานธุรกิจ หรือเรื่องคู่ครองอะไรงี้ ก็มีถมเถไปไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ชาวตะวันตกที่โตแล้ว มักจะไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่เรื่องแบบนี้”


ภาพประกอบจาก:www.patheos.com ,www.theravive.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *