สัพเพเหระในอเมริกา

“Fair” ความยุติธรรม ในสายตาคนอเมริกัน

"Fair" ความยุติธรรม ในสายตาคนอเมริกันเรารับ Job เลี้ยงเด็กในอเมริกามาหลายปีแล้วเหมือนกันค่ะ เด็กๆที่เราเลี้ยงส่วนใหญ่นั้น พอขัดใจอะไรบางอย่าง เค้าก็ชอบบอกว่ามันไม่ “Fair” เอาซะเลย เราจะเห็นคำว่า “Fair” นั้น เป็นคำที่อยู่ในใจคนอเมริกันตั้งแต่เป็นเด็กเลยทีเดียว

เราได้ไปอ่านเจอหัวข้อเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” ในหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Thailand Fever
โดยคุณ คริส เพอราซี และคุณ วิธิดา วสันต์ ทั้งสองท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” ในสายตาคนอเมริกันไว้ได้ดีมากเลยค่ะ เลยอยากให้คนไทยที่อยู่อเมริกา หรือกำลังจะมาอเมริกา ได้เข้าใจความคิดของคนอเมริกันในเรื่อง “ความยุติธรรม” ด้วยกันค่ะ

“ค่านิยมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของความยุติธรรม (Fair) ซึ่งเรามักใช้ทับศัพท์กันว่า “แฟร์” ในความหมายว่า “เป็นธรรม” ซึ่งความจริงก็ไม่ตรงทีเดียว

คำว่า”แฟร์” ในนิยามของฝรั่งนั้น หมายถึงการแลกเปลี่ยนทดแทนด้วยคุณค่าที่เท่าเทียมกัน เช่นว่า ถ้าคุณช่วยอะไรฉัน ฉันก็ควรจะทำหรือให้อะไรตอบแทนในปริมาณและคุณภาพที่ “แฟร์” กับคุณ นั่นคือปริมาณและคุณภาพเท่าๆกันที่คุณให้มา ถ้าเราปฏิเสธไม่รับสิ่งตอบแทน ก็จะทำให้ฝรั่งไม่สบายใจ เพราะถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบเรา

ไอ้การที่จะปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นบุญเป็นคุณกันไม่สิ้นสุดนั้นนะเหรอ มันขัดความรู้สึกฝรั่งอย่างจั๋งหนับ สำหรับฝรั่งแล้ว การเป็นหนี้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนี้บุญคุณหรือหนี้อะไรก็ตาม มันทำให้ตัวเขารู้สึกว่าตัวเองผิด ทำให้รู้สึกหนักใจอยู่ตลอดเวลา คือมันไปคุกคามความรู้สึกเป็นอิสระ อันเป็นที่หวงแหนสุดๆของเขา

เพราะฉะนั้น ฝรั่ง(ที่ดี) จะพยายามตอบแทนความเอื้อเฟื้อของผู้อื่น โดยการขอจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินตรา สิ่งของ หรือแรงงานแรงสมอง ซึ่งเขาตีแล้วว่ามีมูลค่าใกล้เคียงกับสิ่่งที่ตนได้รับ (อันนี้มีตัวอย่างชัดเจน เช่น ค่าทิปในร้านอาหารไงคะ)

เมื่อชำระเสร็จกันไปแล้ว ก็ทำให้สบายใจทั้ผู้ให้และผู้รับ ไม่มีฝ่ายใดรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งสองฝ่ายต่างคืนสู่ความเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกันเป็นพิเศษต่อไป เป็นอันจบเรื่อง ถือว่าความสัมพันธ์คืนสู่ดุลยภาพที่ถูกที่ควร

แล้วในกรณีที่เขาไม่มีปัญญาหรือโอกาสจะตอบแทนล่ะ? ฝรั่งที่ดีก็จะพยายามปฏิเสธ ไม่ยอมรับความช่วยเหลือ นอกจากว่าจะเข้าตาจนจริงๆเท่านั้น เออ…แล้วในกรณีที่เราให้ความช่วยเหลือเขาไป แล้วเขาเสนอจะจ่ายค่าตอบแทน แล้วเราไม่เอา ยืนยันปฏเสธแล้วปฏิเสธอีกล่ะ (อาจด้วยความเกรงใจ)

เห็นเราบอก ไม่เป็นไรๆ เขาก็จะสรุปไปเลยว่าเราช่วยเขาเพราะเราเป็นคนใจดี ไม่หวังอะไรตอบแทนจริงๆ จบ!

ตานี้ต่อไปในกาลข้างหน้า ถ้าเผื่อมีใครมาเตือนเขาขึ้นมาว่า เขาควรช่วยอะไรเราบ้าง เพราะเราเคยมีบุญคุณกับเขามาก่อน เขาอาจงงเต้กเลย ดีไม่ดีอาจถึงกับฉุนกึก เพราะเรื่องมันจบไปแล้วนินาตามสูตรของเขา ทำไมมันมาแปรรูปทีหลังได้ จุดนี้หละเป็นตัวอย่างที่วัฒนธรรมชนกัน โครม! ต่างฝ่ายต่างรู้สึกถูกรังแก”

เป็นอย่างไรบ้างคะ พออ่านบทความนี้จบ ก็เข้าใจความคิดฝรั่งขึ้นมาอีกหน่อยหรือปล่าวคะ พอลองคิดในแง่มุมของคนอเมริกันดูดีๆแล้ว ก็ถูกของเขาเหมือนกันนะคะ เวลาเกิดเหตุอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลในสายตาของเรา ก็ไปโกรธเขาไม่ได้เหมือนกัน

แต่คนอเมริกันไม่ใช่เป็นคนใจจืดใจดำ หรือแล้งน้ำใจแต่อย่างใดนะคะ ในทางกลับกัน ที่อเมริกานี้ จะมีมูลนิธิ หรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลืออยู่มากๆทีเดียว คือคนอเมริกันค่อนข้างขี้สงสารค่ะ คือบทถ้าเขาอยากจะช่วย เค้าก็จะตัดสินใจช่วยเอง โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทนเลยค่ะ แล้วเค้าจะรู้สึกสุขใจ ภูมิใจ และอิ่มใจมาก เมื่อเห็นฝ่ายที่เค้าช่วยมีความสุขมากขึ้นค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *