วิธีจัดการกับ Culture Shock
Culture Shock ถ้าให้พูดง่ายๆก็หมายถึง การที่คนเรารู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจทำอะไรไม่ถูกเวลาที่ต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองหรือในที่ที่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกับในชีวิตปกติค่ะ
อาการแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่มาต่างประเทศเท่านั้น อันที่จริง Culture Shock สามารถเกิดขึ้นแม้แต่เวลาที่เราอยู่ที่เมืองไทยก็ได้ เพียงแต่ว่าอาการจะหนักหน่อยกับคนที่เดินทางไปต่างประเทศค่ะ
ตามทฤษฎีที่เรียนมาเขาอธิบายว่าโดยปกติคนที่เข้าไปอยู่ในที่ใหม่ ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างจากเดิมนั้นจะรู้สึกตื่นเต้นจนลืมคิดถึงบ้านก่อนค่ะ ระยะเวลาแห่งความตื่นตาตื่นใจนี้อาจจะใช้เวลาได้นานถึง 6 เดือนก่อนที่ความรู้สึกนั้นจะค่อยๆจางหายไป จากนั้นเส้นกราฟของความตื่นเต้นก็จะเริ่มดิ่งลง หลังจากที่เริ่มหายเห่อแล้วนั่นแหละค่ะถึงจะเริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างมันไม่เหมือนที่บ้าน
บางคนถ้าสามารถปรับตัวได้ก็จะสามารถรักษาระดับของเส้นกราฟแห่งความตื่นเต้นให้อยู่ในระดับคงที่ได้ แต่บางคนที่ปรับตัวไม่ได้เส้นกราฟอาจจะต่ำลงสุดๆ ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่เจ้าตัวจะรู้สึกหดหู่ ท้อถอย ไม่อยากทำอะไร หรืออาจแสดงออกมาในรูปของความโกรธก็ได้ค่ะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเตรียมตัวให้ดีตั้งแต่ตอนที่ตัดสินใจมาเมืองนอกเลยล่ะค่ะ
จากประสบการณ์ของตัวเองก็คงต้องบอกว่าโชคดีมากที่อาการไม่หนักมากและสามารถที่จะก้าวออกจากสภาวะของ Culture Shock ได้ค่อนข้างเร็ว คือเมื่อตอนมาถึงที่นี่ก็เข้าเรียนภาษาอังกฤษก่อนที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในช่วงแรกๆก็ได้ไปเที่ยวไปทัศนศึกษากับที่โรงเรียนภาษา ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นและสนุกกับเพื่อนใหม่กับกิจกรรมใหม่ๆค่ะ
พอสักระยะนึงกิจกรรมต่างๆก็เริ่มซ้ำแบบเดิม ยิ่งตอนที่ย้ายออกไปอยู่อพาร์ทเม้นต์แล้วก็ยิ่งรู้สึกแปลกๆ มันเบื่อๆเหงาๆยังงัยบอกไม่ถูก แถมไม่พอก็ยังไม่รู้จักเพื่อนคนไทยเลย พอไปหาเพื่อนต่างชาติหรือไปกับเพื่อนร่วมห้องที่อพาร์ทเม้นต์ เราก็รู้สึกไม่สบายตัวเหมือนไม่ใช่ตัวของตัวเอง
สิ่งที่ช่วยให้ออกจากสภาวะนั้นได้ก็เพราะความบังเอิญที่ต้องยุ่งอยู่กับการเตรียมสอบ GMAT ค่ะ พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วถึงได้เริ่มขยับขยายทำความรู้จักกับเพื่อนชาวไทยค่ะ ทุกอาทิตย์ก็จะนัดเจอกับเพื่อนๆชาวไทยอาทิตย์ละครั้ง แต่ละครั้งก็แล้วแต่ค่ะทำอาหาร ไปทานข้างนอก ดูหนัง ออกกำลังกาย ขึ้นอยู่กับว่าใครอยากจะทำอะไรค่ะ เวลามีปัญาหาหรือไม่รู้อะไรก็มีคนให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วงนี้แหละค่ะที่ตั้งหลักได้จริงๆ
หลังจากเริ่มเรียนปริญญาโทแล้วก็ได้มีโอกาสลงเรียนวิชา Intercultural Competency ซึ่งก็มีอยู่บทหนึ่งที่พูดถึง Culture Shock เลยได้มานั่งคิดประมวลเหตุการณ์เข้ากับหลักวิชาดู ก็เห็นว่าตัวเองโชคดีที่จัดการตัวเองได้ถูกหลัก
ตามการวิจัยและทฤษฎีของนักวิชาการด้านนี้แนะนำว่า ในการป้องกันอาการ Culture Shock เวลาไปอยู่ต่างประเทศนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำตั้งแต่ก่อนมาคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ลักษณะความเป็นอยู่ หรือลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของคนที่นั่น เมื่อมาถึงที่นี่แล้วก็ควรที่จะมีเพื่อนที่มาจากประเทศเดียวกัน ถ้าจะให้ดีเพื่อนเหล่านี้ควรจะมาต่างประเทศด้วยเหตุผลเดียวกัน
และถ้าในกลุ่มเพื่อนนี้มีบางคนที่มีประสบการณ์ในประเทศนั้นๆมากกว่าก็จะดีเพราะช่วยให้คำปรึกษาได้ค่ะ หรือให้พูดตามหลักคำพังเพยก็คือ หาพวกที่ลงเรือลำเดียวกันจะได้เข้าอกเข้าใจและพูดกันรู้เรื่องว่างั้นแหละค่ะ
สำหรับน้องๆที่ตั้งใจจะมาเรียนแต่ไม่มีญาติพี่น้อง มากันแบบลุยเดี่ยวต้องอย่ามองข้ามเรื่องแบบนี้นะคะ ถ้าปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะ Culture Shock นานๆนอกจากจะไม่สนุกแล้ว อาจจะมีปัญหากระทบกับการเรียนและมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกก็ได้ค่ะ
อย่างลืมจุดมุ่งหมายในการมาและเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนๆนักศึกษาชาวไทยบ้างและชาวต่างชาติบ้างเพื่อการเรียนรู้ เท่านี้ก็ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเหงาๆไปได้แล้วล่ะค่ะ
โดยษุภากร แบ๊คลี่ย์
Intercultural Consulting and Services LLC
ขอขอบคุณภาพจาก barbs-grad-life.blogspot.com, www.silverfox-whispers.com, bucultureshock.com, invadenola.com