เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ บริหารจัดการอย่างไรให้ลงตัว?
เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องร้อนค่ะ ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อยถ้าจัดการไม่เป็นก็จะร้อนไปทั้งตัวเองและอาจจะเลยไปถึงคนใกล้เคียงด้วย พอเกริ่นอย่างนี้ก็คงจะทราบกันดีนะคะว่าตอนนี้เราจะมาถกกันเรื่องการจัดการเงินทองกันสักหน่อยนะคะ วัตถุประสงค์ของเราคราวนี้คือการจัดการในลักษณะเงินหมุนเพื่อให้มีเงินเหลือในมือและขณะเดียวกันเราก็สามารถจ่ายชำระหนี้สินของเราได้โดยไม่ขาดเช่นเดียวกันค่ะ
การจัดการเงินไม่ว่าจะเป็นการจัดการเงินของบริษัทห้างร้านหรือจะเป็นเงินส่วนตัวก็ต้องเริ่มจากการจัดระเบียบเงินเข้าออกก่อนค่ะ ซึ่งมีสิ่งสำคัญเหมือนกันอยู่สองสามอย่าง ก็คือ เราจะมีเงินเข้ามาเท่าไรและเมื่อใด และ เราจะต้องจ่ายเงินออกไปเท่าไรและเมื่อใดค่ะ มาเริ่มดูจากเงินเข้าก่อนนะคะซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยากตรงนี้เรามาสมมติกันนะคะว่าเราได้รับเงินตอนต้นเดือนกับกลางเดือนเป็นเดือนละสองครั้ง ซึ่งเท่าที่เห็นมานี่เป็นตารางการจ่ายเงินตามปกติของนายจ้างทั่วไปค่ะ
ขั้นต่อไปจะมีรายละเอียดนิดหน่อยนะคะเพราะเราต้องดูเรื่องรายจ่ายค่ะ เริ่มต้นเราก็ต้องมานั่งเขียนรายการค่าใช้จ่ายประจำทั้งหมดพร้อมกับวันครบกำหนดที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นค่ะ และที่สำคัญที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดที่จะต้องเพิ่มลงไปในค่าใช้จ่ายประจำก็คือเงินเก็บและวันครบกำหนดชำระเงินสำหรับรายการเงินเก็บก็ต้องเป็นวันถัดจากวันที่รับเงินเข้ามาค่ะ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับขั้นตอนการรวบรวมค่าใช้จ่ายประจำนี่อย่าเพิ่งเอาค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมหรือค่าซื้อของช้อปปิ้งเข้าไปนะคะ เพราะเราต้องดูที่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้นค่ะ ถ้าใครยังงงอยู่ก็ลองดูตารางข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างนะคะ
ค่าใช้จ่าย | วันครบกำหนด | จำนวนเงิน |
เงินเก็บ | 1 และ 16 (สมมุติว่ารับเงินวันที 30 และ 15 ของทุกเดือน) | อย่างน้อย 15% |
ค่าน้ำ | ||
ค่าไฟ | ||
ค่าโทรศัพท์ | ||
ค่าเคเบิล+อินเตอร์เน็ต | ||
ค่าเช่า/ผ่อนบ้าน | ||
ค่าผ่อนรถ |
เวลากรอกข้อมูลลงในตารางสำหรับค่าน้ำค่าไฟจะต้องกลับไปดูค่าใช้จ่ายส่วนนี้หลาย ๆ เดือนแล้วหาค่าเฉลี่ยจากนั้นปัดขึ้นให้เป็นจำนวนเต็มหลักสิบนะคะ สมมติว่าค่าน้ำโดยเฉลี่ย ประมาณ $44 เราก็กรอก $50 ลงในตารางค่ะ ส่วนค่าใช้จ่ายประจำอื่น ๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นจำนวนเงินตายตัวประจำทุกเดือนอยู่แล้ว พอมาถึงตรงนี้บางคนก็บอกว่า เอ๊ะ! ค่าใช้จ่ายประจำยังมีอีกนี่นา ค่าอาหารหรือ Grocery ยังไม่ได้ใส่เลย ใช่ค่ะ และนี่ก็คือเวลาที่เราจะมาคิดถึงค่าอาหารค่ะซึ่งจะต้องเป็นหลังจากที่เรากันค่าใช้จ่ายประจำอื่น ๆ ไปแล้วค่ะ เหตุผลก็คือเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ค่ะ อย่างเช่น ทำอาหารทานเอง ห่อข้าวไปทาน งดทานนอกบ้าน พอประมาณค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้แล้วก็เพิ่มรายการเข้าไปในตารางค่ะ ค่าใช้จ่ายประจำอีกอย่างที่ยังไม่ได้พูดถึงก็คือค่าน้ำมัน ซึ่งก็สามารถใช้หลักการเดียวกันกับค่าน้ำค่าไฟได้ค่ะ
ตอนนี้เราก็ได้ทั้งเงินเข้าและเงินออกทั้งหมดแล้วนะคะ สิ่งที่เราต้องมาดูต่อก็คือจำนวนเงินเข้าทั้งหมดมีมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เรามีอยู่ทั้งหมดหรือไม่ค่ะ ซึ่งหวังว่าอย่างน้อยทุกคนมีรายรับเท่ากับรายจ่ายนะคะ เพราะถ้าตัวเลขออกมาเท่ากันอย่างน้อยทุกคนก็มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นเป็นประจำทุกเดือนแล้วอย่างแน่นอนใช่ไม๊คะ แต่ถ้าเรียบเรียงรายการหักลบแล้วยังมีรายรับไม่พอกับรายจ่ายก็ต้องมาดูค่ะว่าจะสามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหนลงได้บ้างค่ะ แต่อย่าตัดเงินเก็บออกไปนะคะถ้าจะเป็นให้ลดจำนวนเปอร์เซ็นต์ลงได้เท่านั้นนะ เพราะไม่อย่างนั้นรับรองว่ากว่าจะมีเงินเก็บกับเขาได้ก็คงจะอีกนาน แต่ถ้าใครปรับลดค่าใช้จ่ายแล้วรายรับยังน้อยกว่ารายจ่ายอีกมากล่ะก็เป็นเรื่องใหญ่แล้วค่ะ ซึ่งจะยังไม่ขอพูดในที่นี้นะคะเพราะมันเรื่องยาวค่ะ
ขั้นต่อไปก็มาถึงการหมุนเงิน ดึงเงิน หรือจัดการรายจ่ายหรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ค่ะ ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรมากเราต้องมาดูว่าค่าใช้จ่ายแต่ละรายการนั้นครบกำหนดเมื่อไร เราก็ทำการจ่ายชำระให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่เสียค่าปรับค่ะ ยิ่งทุกวันนี้เราใช้ระบบอินเตอร์เน็ตสามารถทำรายการจ่ายออนไลน์ในวันครบกำหนดก็ได้ แต่ที่สำคัญอย่าลืมก็แล้วกันนะคะ นอกจากที่เราจะดึงเงินให้จ่ายออกช้าที่สุดแล้ว เรายังสามารถกระจายรายจ่ายให้เป็นรายจ่ายย่อย ๆ แต่หลาย ๆ งวดได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งในส่วนนี้จะเน้นเฉพาะค่าใช้จ่ายเงินกู้ต่าง ๆ เท่านั้นนะคะ วิธีทำก็คือเอาค่าใช้จ่ายรายเดือนเหล่านี้มาหารด้วยสี่ค่ะแล้วเราก็จ่ายชะระเงินผ่อนเหล่านี้เป็นรายสัปดาห์แทน ประโยชน์ของวิธีนี้ก็คือเราจะได้ไม่มีค่าใช้จ่ายโหลดหนักมากในช่วงใดช่วงหนึ่งของเดือนเท่านั้น นอกจากนี้เรายังสามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้มากกว่าและเร็วกว่าจ่ายครั้งเดียวเป็นรายเดือนอีกนะคะ เพราะถ้าจะนับกันจริง ๆ แล้วกว่าจะครบรอบเดือนมันอาจกินเข้าไปถึง ห้าสัปดาห์ด้วยซ้ำซึ่งก็หมายความว่าเราจ่ายมากกว่าปกติถึงหนึ่งในสี่ส่วนค่ะ
วิธีที่เล่าสู่กันฟังมานี้เคยทำสำเร็จและแนะนำให้หลาย ๆ คนทำตามมาแล้วและได้ผลทุกคนค่ะ มันอาจจะดูซับซ้อนและจุกจิกสักหน่อยหากใครยังไม่เคยทำมาก่อน แต่ค่อย ๆ ดูค่อย ๆ ทำไปค่ะ ใช้โปรแกรม MS Excel เข้าช่วยเก็บรายละเอียดเงินเหลือในมือต่อวันไปด้วยในตัวก็จะเห็นเองค่ะ แต่ถ้าใครไม่ถนัดใช้โปรแกรม MS Excel ก็เขียนลงในปฏิทินเป็นประจำทุกวันก็ได้ค่ะ แต่ถ้าหากมีเงินคงเหลือในมือแล้วก็อย่าได้ใจเอาไปช้อปปิ้งหมดนะคะ เก็บไว้ก่อนค่ะเพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเข้ามา หากมีเราก็จะได้ไม่ต้องมีหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นค่ะ
โดย ษุภากร แบ๊คลี่ย์