ประสบการณ์สุดมันส์ในอเมริกา

ความ “เชื่อใจ” ของ ร้านค้าในอเมริกา

ข้อดีมากถึงมากที่สุด ของการช้อปปิ้งที่อเมริกาก็คือ เราสามารถคืนของได้ค่ะ ไม่แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเป็นเดือน หากยังอยู่ในกำหนดเวลาและมีใบเสร็จยืนยัน เราก็จะได้เงินคืนจาก ร้านค้าในอเมริกา อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เท่าๆกับตอนที่ซื้อ

ดังนั้น หลังจากช่วงเวลาเทศกาลต่างๆเช่น Black Friday, Labor day, Christmas ที่ร้านค้าในอเมริกา ลดสะบั้นหั่นแหลก เราจะเห็นว่าตรงช่อง Customer Service จะมีขบวนยาวเหยียดของนักช็อป ที่ต่างหอบหิ้วสินค้ามาคืนเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าช่วงลดราคานั้น อะดีนาลีนคงหลั่งออกมาเยอะ เลยซื้อแหลกไม่ได้คิด หรือบางตัวยังไม่ได้ลองใส่ดูเลยว่าเหมาะกับตัวเองไหม แต่ก็ซื้อมาก่อน เพราะถือหลักว่า “เดี๋ยวก็คืนได้” นั่นเองค่ะ

ร้านค้าในอเมริกา บางแห่ง เพื่อกระตุ้นยอดขาย ก็จะพยายามให้ลูกค้าที่มาซื้อของสมัคร ทำบัตรเครดิต (ที่ใช้เฉพาะของร้านค้านั้นๆ) แล้วพยายามเสนอส่วนลดต่างๆให้ลูกค้ามาซื้อของอยู่เรื่อยๆ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็เช่นกัน แม้ไม่ใช่ช่วงเวลาเทศกาล แต่ห้างแห่งนี้ ก็ส่งโปรชัวร์โฆษณามาให้เรา (ซึ่งทำบัตรของห้างไว้) ว่าตอนนี้ที่ห้างกำลังลดกระหน่ำ และคุณก็ยังได้บัตรลดอีก 30 เปอร์เซนต์ จากราคาที่ลดถูกอยู่แล้ว โอ้ เมื่อเอาเหยื่อตัวบิ๊กเบ้งมาล่อซะขนาดนี้ เราก็งับปั๊ปเข้าไปเต็มที่ บ่ายนี้ต้องแวะไปซักหน่อย!!!

 

เดินช๊อปซักพัก (2 ชั่วโมงไม่รู้ตัว!) ได้เสื้อผ้ามา 3-4 ตัวค่ะ เราก็ตรงไปจ่ายเงินที่ Cashier คุณลุงแก่ที่มีประสบการณ์ขายยาวนานถึง 10 ปี เป็นพนักงานเก็บเงินให้เราวันนี้ (มีป้ายบอกจำนวนปี Seller Experiences ติดที่เสื้อค่า มิได้โม้)

คุณลุงท่าทางใจดีมาก ยิ้มและ Say Hi ตามมารยาท และตอบ Very Very Good ตอนเราถามกลับมั่งว่าสบายดีบ่ (คือที่อเมริกา พนักงาน Cashier ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม จะต้องทักทายคนที่มาจ่ายตังค์ทุกครั้งค่ะ) จากนั้นก็เริ่ม Scan ป้ายราคาเพื่อคิดเงิน (ฮ่า อย่าตกใจกับราคา sale สะท้านโลกนาคะ!)

ตัวแรก เสื้อยืด น้องฝากซื้อ จาก $19 ลดเหลือ $14 ลดอีก 30% เหลือ $10 กว่า
กางเกงยีนส์ จาก $30 กว่าเหรียญ เหลือ $19 ลดอีก 30% เหลือ $14 กว่า
เสื้อฉลุลายสีน้ำเงินเข้ม จาก $20 เหลือ $11 ลดอีก 30% เหลือ $8 กว่า
ตัวสุดท้ายเป็นเสื้อ Jacket สปอร์ตสีเขียว จาก $48 เหลือ $29 ลดอีก 30% เหลือ…

อ๊ะ!?! ทำไมเสื้อ Jacket มันลดเป็นราคา $29 หว่า ตอนนั้นเราเห็นมันลดเหลือ $18 น้า (คือป้ายมอนิเตอร์มีขึ้นโชว์ราคาสุดท้ายค่ะ เราเลยรู้) เราก็เลยบอกคุณลุงไปอย่างนั้นว่า เราเห็น Jacket นี่มันราคา $18 เหรียญนะคะ

ความ"เชื่อใจ" ของ ร้านค้าในอเมริกา

ระหว่างนั้น เราก็คิดว่าคุณลุงคงจะเดินไปเช็คกับเราตรงที่ขายเสื้อ Jacket ว่าป้ายราคามันเป็น $18 เหมือนที่เราบอกจริงไหม ผ่านไปหลายวินาที คุณลุงยังไม่มีทีท่าจะเคลื่อนที่ไปไหน โอ้! เราคงมองโลกในแง่ดีจนเกินไป ยังมีลูกค้ารอคิวจ่ายของอยู่ข้างหลังอีกพอสมควร เราคงต้องเลือกแล้วว่า จะซื้อไหมในราคา $29 นี้ ถ้าไม่อยากจ่าย เอาของออกยังทัน

ยังไม่ทันจะพูดอะไรต่อ อยู่ๆคุณลุงก็บอกว่าให้เราเซ็นต์จ่ายเงินไปก่อน เดี๋ยวเขาจะแก้ไขราคาให้ เราก็ยังงงๆอยู่ ว่าคุณลุงจะทำอะไร แต่ไม่อยากให้เสียเวลาคนอื่นมากกว่านี้ ก็เลยเซ็นต์จ่ายเงินไป เอ้า ยังไงก็เก็บใบเสร็จไปคืนของก็ยังได้

หลังจากเซ็นต์จ่ายตังค์เสร็จ คุณลุงก็มาบอกเราว่าเนี่ย คุณบอกว่า Jacket ตัวนี้ ป้ายที่คุณเห็น ติดราคา $18 ใช่ไหม ในบิลที่คุณเพิ่งจ่ายไป มัน $29 ดังนั้น ส่วนต่างคือ $11 แต่คุณได้ใช้ส่วนลดไป 30% ดังนั้นส่วนต่างจริงๆคือ $8 กว่า เค้าจะตัดเงิน $8 กว่าออกให้จากเครดิตของเราให้ ว่าแล้วคุณลุงก็ลงมือจิ้มๆทำรายการต่อ แล้วปริ้นส์ใบเสร็จที่แสดงว่ามีการหักลบเงินที่จ่ายออกไป $8 ยื่นให้เรา

ด้วยความงุงงง เราก็รับใบเสร็จ แล้วขอบคุณคุณลุงหลายครั้ง ที่หักลบราคาให้เรา แต่ก็ไม่กล้าจะถามว่าทำไมคุณลุงถึงเชื่อใจฉันจัง ไม่เดินไปดูก่อนหรือค่ะ ว่ามันเท่าไหร่กันแน่ เรานึกถึงป้าย 10 Years Experiences ที่ติดอยู่บนเสื้อของคุณลุง แล้วก็เดินออกไปจากห้าง ทั้งๆที่ยังตะขิดตะขวงใจอยู่นิดหน่อย

หลังจากนั้น ความไม่สบายใจก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ คิดไปต่างๆนานา เช่น อ๊ะ ถ้าเราดูผิดเองจริงๆล่ะ แล้วคุณลุงจะต้องมาจ่ายตังค์แทนเราหรือปล่าวนี่ อยากจะกลับไปดูให้แน่ชัดจริงๆเชียว ว่าราคามันเท่าไหร่กันแน่ คุณลุงอุตสาห์เชื่อใจเราแล้วนะ คุณลุงแก่มากแล้ว อาจทำอะไรผิดพลาดก็ได้นะ

สุดท้าย ทนไม่ไหว 2 วันถัดมาเลยไปที่ห้าง เพื่อที่จะไปดูราคา และไปหาคุณลุง ปรากฏว่าวันนี้คุณลุงไม่ได้มาทำงาน แถมราคาต่างๆก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะที่เราไปวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของช่วงเซลล์ เลยตัดสินใจไปที่ Customer Service เพื่อถามให้รู้เรื่อง

ที่Customer Service วันนี้ คิวไม่เยอะนัก แต่ว่าแต่ละคนหอบหิ้วเสื้อผ้า รองเท้ามาคืน คนนึงเยอะมากๆ แต่ละคนน่าจะหอบหิ้วของมากกว่า 10อย่าง เลยต้องรออยู่สักพัก อันตัวเราไม่ได้หอบหิ้วอะไรมาเลย แต่ก็ต้องมาเข้าคิวกับเขาด้วย55 ในที่สุด พนักงานหญิงคนหนึ่งก็เรียกเราหลังจากอธิบายเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็ได้ความว่า มันเป็นนโยบายของร้านค้าว่า”เชื่อใจ”ลูกค้า เค้าจะไม่มีการวิ่งวุ่นไปดูราคาของให้เสียเวลา ทำให้ลูกค้ารู้สึกวุ่นวาย และรู้สึกแย่ เมื่อได้ยินอย่างนี้ก็สบายใจขึ้นค่ะ มันเป็น”นโยบายของห้าง” คุณลุงไม่ได้ลดให้เราเองอย่างไม่มีกฎเกณฑ์อะไร แล้วทางห้างก็ไม่ได้อยากจะมาตรวจย้อนหลัง เพื่อให้เราจ่ายคืนไปคืนมากันอีก
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ร้านค้าในอเมริกา มีความ “เชื่อใจ” ลูกค้าเอามากๆ การที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนอเมริกันเป็นคนค่อนข้างซื่อสัตย์ และเกลียดการโกหกเป็นที่สุดค่ะ เลยให้เกียรติกับลูกค้าด้วย ว่าคงไม่มาโกหกอะไร แถมยังทำให้ลูกค้ารู้สึกดีอีก อย่างที่เรารู้สึกว่า เออ เค้าเชื่อใจเราแฮะ อย่างนี้ต้องมาอีกบ่อยๆ (ถึงแม้ไม่ได้มีตังค์ซื้อได้เยอะๆก็ตาม)
ดังนั้น ใครมาที่อเมริกาแล้ว จะเห็นช่องโหว่ในการเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายมากอย่างเช่น ที่โรงหนังจะไม่มีคนเก็บตั๋วทางเข้าของแต่ละโรง เก็บครั้งเดียวตอนแรกตรงปากทางเข้ารวม ทำให้บางคนดูเรื่องหนึ่งจบแล้วก็เดินเข้าไปดูอีกโรง, บางคนซื้อเสื้อไปใส่ทั้งวันแล้วก็ยังเอามาคืน, บางคนทำของเสียหายเอง แต่อ้างว่าของเสียแต่ต้นแล้วเอาไปคืนหรือเปลี่ยนใหม่  หรือ เรื่องที่เราเล่าไปแล้วนี้ ก็เช่นกันค่ะ

เรื่องแบบนี้ ต้องระวังมากๆเลยนะคะ แม้เป็นเรื่องนิดๆหน่อยๆ แม้ว่าสิ่งที่ทำไปไม่ผิดกฏหมาย แต่ก็ผิดศีลธรรม เห็นได้ชัดจากความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น หรือความเสียวหน่วงๆอยู่ในใจตอนที่กำลังทำสิ่งที่ไม่ดี การทำผิดครั้งแรกๆอาจรู้สึกรุนแรง และถ้าเราทำบ่อยๆจะรู้สึกผิดน้อยลง และพร้อมที่จะลงมือทำในสิ่งที่ย่ำแย่มากกว่านี้ได้ง่ายขึ้นไปอีก

จะเห็นว่าทาง ร้านค้าอเมริกา มีนโยบายให้เราได้จับจ่าย และคืนของได้อย่างสะดวกสบาย แถมยังคืนตังค์ให้เราด้วย เพราะความ “เชื่อใจ” ยอมเสียเปรียบ แม้ว่าเราอาจจะดูผิดก็ตาม ดังนั้น เราก็ควรเป็นนักช๊อปที่ดี ไม่ทำให้ฟ้าผิดหวัง เอ้ย! ไม่ทำให้ตัวเองเป็นคนมักง่าย ฉกฉวยผลประโยชน์ จากความ “เชื่อใจ” ของร้านค้าค่ะ ส่วนเราเอง ก็ต้องเตือนตัวเองด้วยเหมือนกัน ว่าต้องดูราคาให้ดีๆก่อน ก่อนที่จะไปจ่ายเงิน ไม่อย่างนั้นคงต้องกลายเป็นคนไม่ดีเข้าโดยไม่รู้ตัวค่ะ

Wal-Mart.com USA, LLCWal-Mart.com USA, LLC

 

Author: Thais
ขอบคุณภาพจาก:blog.palmpartners.com, blog.couponsherpa.com, www.thedreamsoul.com
www.almostzara.com, www.bloomberg.com, www.ehow.com, momsneedtoknow.com, iammeg.ph

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *