ทำไมถึงอยากได้ ไอโฟน ไอแพด กันจัง
ณ.นาทีนี้หากถามถึงสิ่งของที่อยากได้ หลายคนก็จะตอบว่าไอโฟน หรือไม่ก็ไอแพด ยิ่งในปัจจุบันเราจะเห็นสื่อต่างๆ พูดถึงไอโฟนและไอแพดกันมาก ทั้งโฆษณาที่บรรยายสรรพคุณของไอโฟนหรือไอแพด ข่าวกำหนดการเปิดตัว ข่าวหลุดจากวงในถึงสเปคเครื่อง หรือไม่ก็ข่าวคนขายพรหมจรรย์หรือขายไต เพื่อให้ได้เงินมาซื้อไอโฟนไว้ครอบครอง เหตุใดเราถึงอยากได้ไอโฟน ไอแพดขนาดนั้น ทั้งที่ราคาของไอโฟนและไอแพดนั้นสูงลิบลิ่ว เป็นเพราะประสิทธิภาพของไอโฟน ไอแพดแค่นั้นจริงหรือ?
เหตุผลที่คนชื่นชอบไอโฟน ไอแพด มากกว่าสมาร์ทโฟนและแท็บแล็ตยี่ห้ออื่น หลายคนจะให้เหตุผลว่า เพราะประสิทธิภาพของไอโฟน ไอแพดนั้นเหนือกว่า ทั้งความเร็วเครื่อง ความชัดของกล้องถ่ายรูป ดีไซน์สวย คุณภาพของวัสดุ มีคุณศิริเป็นเพื่อน ไหนจะมีแอพให้เลือกใช้เหมือนโนบิตะขอของเล่นจากกระเป๋าโดเรม่อนอีกต่างหาก บลา บลา บลา พูดไปสามวันก็ไม่หมด ก็ว่ากันไป แต่เมื่อพูดถึงราคาแล้ว ไอโฟนและไอแพดถือว่ามีราคาสูงมากทีเดียว เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนและแท็บแล็ตยี่ห้ออื่นๆ แต่เหตุผลที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่เพราะประสิทธิภาพเท่านั้น ที่ทำให้เราอยากได้ไอโฟน ไอแพดมาครอบครองกันนักหนา ถึงขนาดลงทุนขายตับขายไตกัน ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไอโฟนและไอแพดนั้นกลายเป็นของที่น่าถวิลหาในรอบทศวรรษ
ว่าด้วยเรื่องแนวคิด “การบริโภคเชิงสัญญะ” (Consumption of Signs) สามารถอธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดีว่า การบริโภคสินค้าของคนเรานั้นตกอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์แห่งสัญลักษณ์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้วสินค้าอย่างหนึ่งจะมี 2 คุณค่าคือ คุณค่าแห่งการใช้สอย นั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของตัวสินค้าเช่น ไอศครีมแม็กนั่มนั้นเป็นของว่างมีไว้กินเล่น และคุณค่าในการแลกเปลี่ยน นั่นคือคุณค่าในการซื้อขายทางการตลาดเช่น ไอศครีมแม็กนั่มมีราคาแท่งละ 40 บาท แต่ว่าสินค้านั้นยังมี คุณค่าเชิงสัญญะ นั่นคือมันสามารถสื่อถึง “สัญลักษณ์” บางอย่างได้ และการที่เราอยากจะครอบสินค้านั้นก็ไม่ได้มาจากประโยชน์ใช้สอยของมันอย่างเดียว หากแต่ต้องการที่จะครอบครองสัญลักษณ์ที่ว่านั้นด้วยเช่น ไอศครีมแม็กนั่มนั้นแสดงออกซึ่งความหรูหรา ไฮโซ เมื่อเราถือมันไว้ในมือหรือกัดกินมันก็จะให้ความรู้สึกพิเศษราวกับเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย เป็นต้น
วกกลับมาพูดถึงไอโฟน ไอแพดกันต่อ เมื่อการตลาดของแอปเปิ้ลนั้น สร้างภาพลักษณ์ของไอโฟนและไอแพดให้แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย ความมีระดับ และความเหนือกว่า ผู้ที่มีไอโฟนไว้ครอบครองนั้น ย่อมรู้สึกว่าตนเองนั้น ทันสมัย มีระดับ และเหนือกว่าผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนอื่นๆ ทั่วไป อีกทั้งด้วยการตลาดของแอปเปิ้ลนั้น ทำให้ไอโฟนและไอแพดเป็นสิ่งที่มีค่า ทุกคนต่างต้องการมัน ยิ่งภาพของผู้คนที่ต่อแถวกันซื้อไอโฟน ไอแพด ในวันแรกที่มีการเปิดขาย ยิ่งตอกย้ำว่าไอโฟนและไอแพดนั้นเป็นของที่มีค่า หายาก และสิ่งที่แอปเปิ้ลสามารถสร้างได้ นอกจากแบรนด์สินค้าที่มีมูลค่าแล้ว นั่นคือ Brand Community ชุมชนของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลขึ้นมาได้อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยคนเหล่านั้นจะเรียกตัวเองว่าสาวก และไม่ได้ใช้แค่ไอโฟน ไอแพดเท่านั้น เหล่าสาวกนั้นยังใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลทุกประเภท กลายเป็นลัทธิหนึ่งที่มี Steve Jobs เป็นศาสดา
ทุกวันนี้ วัฒนธรรม สังคม และผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป อย่างการซื้อของนั้น หลายคนไม่ได้ซื้อเพราะต้องการใช้งานจริงๆ แต่เราซื้อเพื่อให้มันเป็นตัวแทนบ่งบอกบางสิ่งบางอย่างแทนตัวเรา มีไว้แล้วเราจะทัดเทียม หรือเหนือกว่าผู้อื่น มีแล้วเราจะไม่อายใคร ไม่ด้อยไปกว่าใคร หากเหตุผลในการซื้อของผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว อนาคตค่าของคนอาจจะต้องวัดกันที่สิ่งของที่มีติดตัว ไม่ใช่ความดีงามอีกต่อไป