รู้จักพวกเขา”ชาวอเมริกัน”
เรื่องของนิสัยใจคอถ้าจะให้พูดกันตามตรงแล้วมันคงจะแตกต่างกันไปบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งความแตกต่างนี้มันเริ่มมาจากความเชื่อ ศาสนา ค่านิยม การอบรมเลี้ยงดูของแต่ละคนที่ได้รับมา แต่ถ้าจะพูดถึงชาวอเมริกันโดยรวมแล้วก็สามารถที่จะแยกแยะกันออกมาเป็นข้อๆได้ค่ะ
เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1980 มีนักวิชาการคนหนึ่งทำการศึกษาวิจัยถึงความประพฤติของคนในองค์กรหนึ่งในประเทศต่างๆ ซึ่งความประพฤติเหล่านี้จัดออกเป็นกลุ่มๆแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม และความรู้จากการวิจัยชิ้นนี้ก็นำมาใช้เป็นแม่แบบและยังเอาไปใช้ในการวางกลยุทธ์ในทางการตลาดหรือการจัดการต่างๆมากมายเลยล่ะค่ะ และก็แน่นอนที่สุดว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ในการวิจัยนี้ บางคนที่ศึกษาในเรื่องสาขา Culture อาจจะแย้งว่ามันต้องมีห้ากลุ่มไม่มีใช่สี่กลุ่ม ตรงนี้ก็ถูกต้องเลยค่ะห้ากลุ่ม แต่ในบทความนี้เราจะดูกันในสี่กลุ่มเท่านั้นนะคะ คราวนี้ลองมาดูกันเป็นกลุ่มๆว่ามันมีอะไรบ้างและสามารถอธิบายลักษณะนิสัยของชาวอเมริกันว่าอย่างไรค่ะ
กลุ่มแรกเป็นเรื่องของความเสมอภาคค่ะ ซึ่งก็สามารถอธิบายได้อย่างนี้นะคะโดยปกติแล้วในทุกสังคมหรือชุมชนล้วนแต่มีความไม่เสมอภาคกันทั้งนั้น แต่การยอมรับในความไม่เสมอภาคของคนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคมนั้นจะมีไม่เท่ากัน จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่งสามารถที่จะเข้าใจและยอมรับในความเหลื่อมล้ำต่ำสูงหรือความไม่เสมอภาคนี้ได้มากกว่าสมาชิกในอีกสังคมหนึ่ง และแทนที่จะพยายามเรียกร้องความเสมอภาคคนในสังคมนี้ก็จะหันไปมองหรือทำอย่างอื่นมากกว่าที่จะเรียกร้องในความเสมอภาคค่ะ
แต่ในสังคมอเมริกานั้นจะถือเรื่องของความเสมอภาคเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ ดูอย่างคำขวัญหรือสมญานามของประเทศก็จะบอกว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เพราะฉะนั้นชาวอเมริกันจึงพร้อมที่จะตั้งคำถาม ข้อแม้ หรือ แสดงความคิดเห็นต่างๆที่ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจได้ตลอดเวลา
กลุ่มที่สองบอกถึงความเป็นส่วนตัวหรือความต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มรักพวกพ้องนั้นก็แน่นอนว่าเหล่าสมาชิกในสังคมแบบนี้จะคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจแสดงออกมาในลักษณะของการกลัวขายหน้าก็ได้ค่ะ แต่นี่ก็ไม่ใช่ชาวอเมริกันหรอกนะคะ เพราะว่าคนที่นี่เขามั่นใจตัวเองสูงมาก คิดยังไงชอบอะไรไม่ชอบอะไรก็แสดงออกมาหรือทำไปตามต้องการค่ะ เวลาเขาถามความคิดเห็นหรือเสนออะไรถ้าบอกว่าไม่เอาไม่ชอบ เขาก็ไม่มาคะยั้นคะยอค่ะ นี่ก็เป็นเพราะว่าเขาเข้าใจว่าทุกคนมีความต้องการส่วนตัวที่แตกต่างกัน และเขาก็ไม่เก็บมาคิดเล็กคิดน้อยอีกด้วยค่ะ
กลุ่มที่สามเป็นเรื่องของความมั่นใจและความทะเยอทะยานของคุณผู้ชายทั้งหลาย ที่เฉพาะเจาะจงในส่วนของคุณผู้ชายเท่านั้นก็เพราะว่าผู้หญิงในแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นเพศแม่มีความรักความอ่อนโยนห่วงใยเหมือนๆกัน แต่สำหรับฝ่ายชายนั้นจะมีดีกรีของความทะเยอทะยานที่แตกต่างกันมากค่ะ และประเทศสหรัฐอเมริกาก็จัดอยู่ในกลุ่มที่คุณผู้ชายทั้งหลายนั้นจะมีความทะเยอทะยาน มีความอยากมีอยากได้ เป็นพวกวัตถุนิยมค่ะ ซึ่งการวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องยังสรุปอีกว่าคุณผู้ชายเหล่านี้มักจะมีความเครียดมากอีกด้วยค่ะ
กลุ่มที่สี่อธิบายถึงลักษณะของคนในสังคมที่กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ มาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะเดาออกนะคะว่าชาวอเมริกันทั้งหลายโดยรวมๆแล้วจะกล้าเสี่ยงกล้าเผชิญความท้าทายหลายๆอย่าง อย่างหนึ่งที่จะเห็นได้ง่ายๆก็คือการเลี้ยงดูลูกๆของชาวอเมริกันพอลูกๆอายุสิบแปดพ่อแม่ก็ปล่อยให้คิดเองตัดสินใจเอง หรือ ให้แต่งงานมีครอบครัวของตัวเองก็มีให้เห็นมากมายค่ะ เคยได้ยินคุณพ่อของแฟนบอกว่าตอนที่คุณแฟนเขาออกจากบ้านไปเมื่ออายุครบสิบแปด เขาก็ห่วง แต่มันเป็นเรื่องของชีวิตที่ทุกคนจะต้องเผชิญ และจะต้องเรียนรู้ชีวิต มันไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ชาวอเมริกันตัดขาดจากลูก ไม่รัก ไม่ห่วง แต่มันเป็นวิถีชีวิตของเขาเท่านั้นเอง
พูดมาอย่างเป็นทางการเสียยืดยาวก็เพียงอยากจะให้เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเพิ่มเติม แต่โดยสรุปแล้วชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็จะพูดตรงไปตรงมา เขาคิดอย่างไรก็ตัดสินใจอย่างนั้น เราตอบเขาไปอย่างไรเขาก็ถือเอาคำตอบนั้นเป็นความจริง โดยที่จะไม่มานั่งกลั่นกรองคิดเล็กคิดน้อย เป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงกล้าเสี่ยง เพราะฉะนั้นในการที่จะเป็นเพื่อนกับชาวอเมริกันนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ที่สำคัญอย่าคิดมากหรือเก็บเอาเรื่องต่างๆมาคิดเล็กคิดน้อยเพราะอาจสร้างความไม่เข้าใจกันขึ้นมาได้ค่ะ
โดยส่วนตัวแล้วถ้าอยากจะทำอะไรหากเราไม่ก้าวก่ายสิทธิของคนอื่นหรือไม่ผิดกฎระเบียบอะไรแล้วก็ทำได้ไม่ต้องอายใครค่ะ เพียงแต่ถ้าทำแล้วตัวเรามีความสุขก็ทำได้เลยค่ะ
โดย ษุภากร, Intercultural Consulting and Services LLC
ขอบคุณภาพประกอบจาก: blog.childrensdayton.org, www.prepbeijing.com
www.heavemedia.com