เก็บเงินในอเมริกาดีกว่าในไทย จริงหรือ??
“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” คำสอนนี้ไม่ได้มีให้ยึดถือเอาแบบอย่างแต่เฉพาะในประเทศไทยของเราเท่านั้น อันที่จริงที่สหรัฐอเมริกานี่ก็มีคำสอนเดียวกันซึ่งจะเป็นประโยคภาษาอังกฤษว่า “One Penny Saved, One Penny earned.”
ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีความมัธยัสด์อดออมแล้วก็คงจะไม่มีเหลืออย่างแน่นอน ดูอย่างดาราดังๆระดับโลกที่หาเงินได้ปีละหลายสิบล้านเหรียญแต่กลับไม่มีอะไรเหลือแถมยังเป็นหนี้เป็นสินอีกต่างหากก็มีให้เห็นเยอะแยะ
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า “ทำงาน เก็บเงินในอเมริกาดีกว่าในไทย จริงหรือ??” ก็คงต้องบอกว่าแล้วแต่ค่ะ ซึ่งจะให้คำตอบที่แน่นอนเพียงคำเดียวว่าจริงหรือไม่จริงนั้นคงทำไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าแย้งว่าก็เห็นคนที่มาเมืองนอกกลับไปมีเงินมีทองมากมายทุกคน ตรงนี้ก็ต้องมาดูกันในแต่ละปัจจัย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าค่าเงินของเงินไทยบาทแตกต่างจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯมาก ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนก็คงอยู่ที่ประมาณ 30 บาทซึ่งก็หมายความว่าถ้าทำงานที่นี่ได้เงิน 1 เหรียญสหรัฐฯเราจะมีเงินทันที 30 บาทซึ่งมากขึ้นถึง 30 เท่า ค่าแรงขั้นต่ำที่นี่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 8 เหรียญต่อชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่นทำงานรับจ้างชั่วคราวที่แมคโดนอลซึ่งก็ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาอะไรก็จะได้รับค่าจ้างประมาณ 8.50 เหรียญต่อชั่วโมงถ้าทำวันละ 5 ชั่วโมงก็จะได้รับค่าจ้างวันละ 42.5 เหรียญหรือประมาณ 1,275 บาท
ถ้าทำทั้งหมด 20 วันก็จะหาเงินได้มากถึง 25,500 บาท โอ้โฮ! ในเมืองไทยหาไม่ได้นะเนี่ย งานธรรมดาที่ไม่ต้องการคุณวุฒิอะไรแต่จ่ายงามขนาดนี้ อย่างพึ่งด่วนตัดสินใจค่ะเพราะเราพูดถึงในจำนวนเงินบาทที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอะไรในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเอามาเป็นข้อสรุปยังไม่ได้นะคะ
เรามาดูค่าใช้จ่ายที่จะต้องหักกลบลบกับเงินที่หาได้ก่อนนะคะ ถ้าเป็นลูกจ้างรายชั่วโมงของแมคโดนอลเพราะความที่เป็นพนักงานใหม่ ทางร้านอนุญาตให้ทำได้วันละ 5 ชั่วโมงเป็นเวลา 20 วันต่อเดือน เพราะฉะนั้นคุณก็จะมีรายได้ 850 เหรียญต่อเดือนเท่านั้นซึ่งยังไม่ได้หักค่าเช่าหรือผ่อนบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆอีก
บางคนอาจจะบอกว่าแหม!ถ้าเป็นระดับผู้จัดการล่ะ โดยปกติพนักงานในระดับผู้จัดการซึ่งคงต้องใช้วุฒิปริญญาตรีหรือประสบการณ์ที่สามารถทดแทนการศึกษาได้จะมีรายได้ประมาณ 40,000 เหรียญต่อปีหรือประมาณ 3,000 เหรียญหรือน้อยกว่านั้นหลังจากหักภาษีแล้ว
คราวนี้ถ้ามีค่าเช่าอพาร์ทเม้นต์ 700 เหรียญ ค่าผ่อนรถ 200 เหรียญ ค่าน้ำมันซึ่งแพงมาก 100 เหรียญ ค่าน้ำไฟ 50 เหรียญและค่าโทรศัพท์อีก 50 เหรียญทั้งหมดคุณก็จะมีค่าใช้จ่ายประจำรายเดือนประมาณ 1,100 เหรียญ นั่นก็หมายความว่าเงินเดือนของคุณจะเหลือประมาณ 1,900 เหรียญซึ่งยังไม่ได้หักภาษีต่างๆนะคะ ที่เหลือก็จะเป็นค่าอาหารและอื่นๆรายวันที่จะเข้ามามากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่การใช้จ่ายของแต่ละคนค่ะ
แต่เท่านี้ยังไม่พอนะคะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกค่ะอย่างเช่นค่าประกันต่างๆ ส่วนใหญ่ค่าประกันสุขภาพบริษัทนายจ้างก็จะจ่ายให้ถ้าทำงานประจำนะคะ ถ้าทำงานชั่วคราวที่รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงนายจ้างก็ไม่มีสวัสดิการค่าประกันสุขภาพให้ค่ะ แล้วถ้ามีครอบครัวนายจ้างส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รับผิดชอบค่ะ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ต้องหักเพิ่มจากรายได้ทำให้มีเงินเหลือเก็บน้อยลงไปอีก
ลองใส่ตัวเลขคร่าวๆของค่าประกันและภาษีเงินได้เพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 300 เหรียญต่อเดือน (สมมติว่าตัวคนเดียวไม่มีครอบครัวนะคะ) โดยประมาณแล้วคุณผู้จัดการก็จะมีเงินหลือประมาณเดือนละ 1,600 เหรียญ คราวนี้ถ้าไม่ทำตามสุภาษิตคำสอนในการอดออมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีเก็บ ในทางตรงกันข้ามถ้ารู้จักเก็บก็จะมีให้เก็บไม่มากก็น้อยค่ะ บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้เงินเหรียญสหรัฐฯมีค่าสูงกว่าเงินไทยมากถึง 30 เท่า มันก็เลยทำให้จำนวนเงินมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ก็เหมือนกับว่าคนที่มาอยู่ที่นี่มีเงินเก็บมากมายเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานเหมือนกันในเมืองไทยค่ะ
แต่สิ่งสำคัญที่เราอาจจะไม่สามารถเก็นเงินได้ดั่งใจก็คือนิสัยและความระมัดระวังในการใช้เงินของตัวเองโดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตค่ะ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ทุกคนต้องมีบัตรเครดิตค่ะ ที่บอกว่าต้องมีก็เพราะว่าประเทศนี้เขาใช้ระบบคะแนนเครดิตเพื่อใช้ตรวจสอบนิสัยและความรับผิดชอบทางด้านการเงินค่ะ
ในการทำธุรกรรม ธุรกิจ การเงิน หรือการสมัครงานทุกคนที่นี่ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเงินโดยการอนุญาตให้ตรวจสอบคะแนนเครดิต (Credit Score)ของตนเองค่ะ และวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้าง Credit Score นี่ก็โดยการใช้บัตรเครดิต เพราะทางหน่วยงานตรวจสอบ Credit Score จะสามารถเช็คความรับผิดชอบทางการเงินของเราว่าสามารถจ่ายชำระบัตรเครดิตได้ทุกเดือนหรือไม่ มีการขาดชำระหรือชำระช้าแค่ไหน
ตอนนี้แหละค่ะที่ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเราทุกคนรู้ดีว่าการมีบัตรเครดิตก็คือการกู้ยืมเงินดีๆนี่เอง ซึ่งวงเงินบัตรเครดิตก็จะสูงกว่ารายได้ของแต่ละคนมาก การจ่ายคืนยอดค้างชำระขั้นต่ำแทนที่จะจ่ายทั้งหมดทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตสร้างนิสัยการใช้เงินเกินรายได้ ถึงแม้ว่านี่จะไม่ทำลาย Credit Score ในทันทีแต่ก็จะค่อยๆส่งผลลบในระยะยาว
ที่สำคัญที่สุดมันเป็นการทำลายเงินสะสมของเราอย่างร้ายแรงค่ะและโปรดอย่าลืมนะคะว่าหนี้สินจำนวนนี้ก็จะเป็นเงินสูงถึง 30 เท่าเมื่อคิดเป็นเงินไทยด้วย และที่สุดก็จะส่งผลร้ายให้รายได้ที่ควรจะมีเหลือเก็บกลับไม่เหลือเลยแถมต้องทำงานเพิ่มเพื่อใช้หนี้อีกก็ได้ค่ะ
จากที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อจะอธิบายว่าการมาทำงานที่อเมริกานี่อาจจะทำให้สามารถมีเงินเก็บได้มากกว่าอยู่ที่เมืองไทยหรือไม่ก็ได้ สิ่งที่สำคัญมันอยู่ที่ว่าเรามีนิสัยในการใช้จ่ายอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าจะตัดสินใจมาเพราะเพียงคิดว่ามาแล้วจะมีเงินมากกว่าอยู่ที่เมืองไทยคงจะไม่ใช่เหตุผลที่ดี สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก่อนที่จะตัดสินในมามาก็คือ โอกาสในการหางานหรือได้งานทำมีหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถส่วนตัวอื่นๆด้วย
ถ้าเห็นว่ามีความสามารถที่จะหางานทำได้แล้วก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า งานนั้นจะมีผลตอบแทนเท่าไรและพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆหรือไม่ และท้ายที่สุดเมื่อมาอยู่ที่นี่แล้วก็ต้องระวังการใช้จ่ายและยึดมั่นในจุดมุ่งหมายของตัวเอง ถ้าทำได้อย่างที่ว่านี่ก็คงไม่ต้องห่วงค่ะเก็บเงินได้มากแน่นอน!
โดย Supakorn Bagley, Intercultural Consulting and Services LLC
ภาพ: mymakemoneymission.blogspot.com,