ประสบการณ์สุดมันส์ในอเมริกา

เมื่อเจอใบสั่งในอเมริกา

ประสบการณ์ ใบสั่งในอเมริกา – ต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าปกติแล้วเวลาขับรถจะเป็นคนที่ขับรถอยู่ใต้ความเร็วที่จำกัดตลอด  ตั้งแต่อยู่ที่นี่มา 13 ปีก็ไม่เคยถูกจับได้ อุ้ย! ไม่ใช่ค่ะ ไม่เคยฝ่าฝืนกฎเพราะไม่อยากมีปัญหา  แต่ก็มีอยู่ครั้งนึงที่ขับรถเร่งเกินความเร็วที่จำกัดไว้และถูกให้ใบสั่งค่ะ  แถมไม่พอ ตอนนั้นลูกชายก็อยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็เลยมีตำรวจตัวน้อยนั่งอยู่ข้างหลังคอยเตือนอยู่ตลอดเวลา 

แต่จำได้ว่าในวันนั้นไม่ได้ตั้งใจจริงๆค่ะ  เรื่องเกิดขึ้นหลังจากไปรับลูกชายจาก Daycare กำลังจะกลับบ้าน  ก็ขับมาด้วยความเร็วประมาณ 55 ไมล์ต่อชั่วโมงซึ่งก็เป็น Speed limit ค่ะ  แต่พอขับมาถึงเนินเล็กๆซึ่งก็มีเส้นประตรงกลางซึ่งเป็นเขตอนุญาตให้แซงได้ ก็เลยแซงรถข้างหน้าขึ้นไป 

กำลังแซงจะพ้นอยู่แล้วรถตำรวจก็สวนมาและเราหลบไม่ได้เพราะรถข้างหลังก็เร่งขึ้นมาทำให้กลับเข้าเลนไม่ได้  ที่ทำได้ก็คือเร่งเครื่องแซงให้พ้นเพื่อจะได้กลับเข้าเลนขวา  ตอนนั้นก็เร่งขึ้นไปถึง 62 ไมล์ต่อชั่วโมงเลยเป็นเหตุให้โดนใบสั่งค่ะ

เมื่อก่อนนี้ในทางปฏิบัติผู้ขับขี่ทั่วไปเข้าใจว่าเราสามารถขับรถได้เร็วกว่าความเร็วจำกัดถึง 15 ไมล์  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าป้าย Speed Limit บอก 55 ไมล์ต่อชั่วโมง เราก็จะขับได้เร็วถึง 70 ไมล์ต่อชั่วโมงโดยไม่ถูกจับหรือโดนใบสั่ง แต่ต่อมาทางตำรวจเขาบอกว่าอนุญาตให้ขับเกินความเร็วได้แค่ 5 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น  นั่นก็หมายความว่าในบริเวณ 55 ไมล์ต่อชั่วโมงเราสามารขับได้เร็วที่สุด 60 ไมล์ต่อชั่วโมงถ้าไม่อย่างนั้นก็จะถูกใบสั่งค่ะ

แต่ถ้าได้รับใบสั่งก็ต้องปฏิบัติตามที่ถูกสั่ง  ที่นี่ไม่เหมือนเมืองไทยเพราะต้องไปปรากฎตัวที่ศาล อธิบายให้ผู้พิพากษาฟังว่าทำไมถึงขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนดไว้ ถ้าเหตุผลฟังขึ้น ศาลก็อาจจะให้โอกาสโดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ

ซึ่งนี่ก็ขึ้นอยู่กับหลายอย่างโดยเฉพาะบันทึกจากตำรวจ  ถ้าถูกจับบ่อยๆอธิบายอย่างไรศาลก็คงไม่ให้โอกาส  แต่ถ้าต้องจ่ายค่าปรับทางการก็จะมีอัตราระบุไว้ว่าเราขับเกินความเร็วเท่าไหร่  จากนั้นก็เอาอัตรานั้นคูณกับความเร็วที่เกินออกมาเป็นค่าปรับของแต่ละคนค่ะ ดังนั้น ถ้าขับเร็วเกินที่ Speed limit สูงๆแล้วล่ะก็ จะโดนค่าปรับมากกว่าที่ Speed limit ต่ำๆนั่นเองค่ะ

ในกรณีของคนที่ไม่ต้องการไปศาลหรือไม่มีเวลาอย่างตัวเองนี่ก็ต้องจ้างทนายไปที่ศาลแทนค่ะ  เรื่องทนายไม่ต้องห่วงทันทีที่ชื่อของเราอยู่ในบันทึกของตำรวจ สำนักงานทนายความในพื้นที่ก็จะได้รับชื่อและที่อยู่ของเราด้วยเช่นกัน

สำนักทนายความเหล่านี้ก็จะส่งจดหมายมาเสนอบริการไปศาลให้เรา  ตอนนั้นก็ได้รับจดหมายจากหลายบริษัทราคาค่าบริการก็จะเป็นราคารวมการขึ้นศาล ตกลงกับบริษัทประกัน และค่าปรับ ซึ่งรวมแล้วจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละบริษัท  ถ้าเราต้องการใช้บริการของที่ไหนเราก็ติดต่อกลับไป  บางสำนักก็เตรียมใบมอบอำนาจให้เราไว้เรียบร้อย  แค่เซ็นชื่อละแนบเช็คและส่งกลับก็เรียบร้อยค่ะ

ทนายจะไปศาลให้เราและจัดการเกี่ยวกับ point ให้  point ที่ว่านี้จะใช้ในการคำนวนค่าประกันรถยนต์ในปีต่อไป  ถ้าเสียหลาย point ปีต่อไปค่าประกันรถยนต์ก็จะแพงขึ้นค่ะ  แต่ถ้าไม่เคยได้รับใบสั่งหรือนานๆครั้งทนายก็จะจัดการขอร้องต่อศาลให้  ถ้าไม่ได้รับใบสั่งอีกตามเวลาที่ศาลกำหนด ผู้ขับก็จะไม่ถูกหัก point ค่ะ

การออกใบสั่งหรือหลักการปฏิบัติต่างๆที่อธิบายมานี้เป็นประสบการณ์จากรัฐ North Carolina เมื่อหลายปีมาแล้ว ในปัจจุบันหรือในรัฐอื่นๆอาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างตามกำหมายของแต่ละรัฐ  แต่ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักค่ะ 

และถึงแม้ว่าจะมีบริษัทสำนักทนายความให้บริการจัดการเรื่องใบสั่งให้แต่ก็อย่าขับรถเร็วเกินกำหนดจะดีกว่านะคะ  เพราะนอกจากจะอันตรายแล้วยังเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยใช่เหตุ และยังเสียเวลาอีกต่างหาก

 


โดย ษุภากร แบ๊คลี่ย์
Intercultural Consulting and Services LLC

ขอขอบคุณภาพจาก www.dmv.orgwww.ehow.comwww.bsmphilly.comwww.mecklenburgtraffictickets.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *