โรคยอดฮิตในอเมริกา
เมื่อมาต่างถิ่นต่างเมืองอย่างอเมริกา แน่นอนว่าสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมต่างๆช่างไม่เหมือนกับประเทศไทยบ้านเราเอาเสียเลย ร่างกายเราที่คุ้นชินกับสภาพอากาศในประเทศไทย พอมาอยู่ที่นี่ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลของอเมริกาที่ไม่มีในไทย เช่น Spring, Fall, หรือ Winter แบบหนาวจัด และนอกจากร่างกายเรา ที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แล้ว จิตใจของเรา ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมาค่ะ
ด้วยสภาพอากาศที่แตกต่างกันกับในไทยเรา บางคนมาอยู่ที่นี่ อาการป่วยบางอย่างที่เคยเป็นตอนอยู่ในไทยกลับดีขึ้น ทว่าบางคนไม่เคยมีปัญหาอะไร มาอเมริกาแล้วกลับเกิดอาการไม่สบาย อย่างนี้ก็มีค่ะ คนที่มาอยู่อเมริกาซักพัก คงอาจจะเคยเป็นโรคคนอเมริกันกันมาบ้างแล้ว หรืออาจมีคนรู้จัก ไม่สบายด้วยโรคต่างๆ
นอกจากร่างกายที่ต้องปรับตัวแล้ว จิตใจเราก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ ผู้คนรอบๆตัวที่รู้สึกไม่คุ้นเคย วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนกับที่เคยเป็นมา ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน ที่ต้องกระตือรือล้น ตื่นตัวอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ถ้าใครปรับตัวได้เร็วก็โชคดีไป แต่คนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกเครียด เป็นกังวล ซึ่งในที่สุด จะส่งผลแย่ๆกับร่างกายได้มากทีเดียวค่ะ
วันนี้ เราเลยจะมาพูดกันถึงโรคที่เป็นกันบ่อย เมื่อมาอยู่ในอเมริกาค่ะ
1 โรคภูมิแพ้
สำหรับคนที่สุขภาพปกติดี ก่อนมาอเมริกา อาจเคยจะ เป็นหวัด เป็นไข้ เจ็บคอ ท้องเสียบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาคนทั่วๆไป แต่เมื่อดั้นด้นมาอยู่ที่อเมริกาสักพัก โรคหนึ่งที่หลายคนไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็มากำเริบเกิดอาการที่นี่ โรคนี้ก็คือ คือ โรคภูมิแพ้นั่นเอง เราตั้งแต่เด็กจนอายุเกือบสามสิบไม่เคยรู้จักว่า ภูมิแพ้เป็นอย่างไร จนกระทั่งไปอยู่ที่อเมริกานี่แหละ รู้ซึ้งเลยคราวนี้
เราสังเกตดู โรคภูมิแพ้นี้ เหมือนเป็นเรื่องปกติของคนคนอเมริกันทั่วไป มียาแก้โรคภูมิแพ้ออกวางจำหน่ายมากมาย มีอยู่ใน Grocery ทุกร้าน และก็เห็นเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่อยู่ในอเมริกามานานเป็นกันมาก จนอดคิดไม่ได้ว่า เราติดโรคอเมริกัน เข้าให้แล้วหล่ะสิ
ช่วงที่คนจะเป็นโรคนี้กันเยอะ คือฤดูใบไม้ผลิ หรือ Spring (เดือนกันยายน – พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่ต้นไม้ ดอกไม้จะเริ่มแตกยอด แตกใบกันใหม่ แข่งกันออกดอก และอีกครั้งในหน้า Fall หรือช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม)เป็นตอนที่ต้นไม้ผลัดใบจนโกร๋นเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงนี่แหละ ที่จะทำให้คนที่มีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ เราจะรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก เพราะสูดเอาละอองต่างๆเข้าไป
ช่วงเดือนเหล่านี้ จะมีพวก เกสรดอกไม้ พวก สปอร์ ต่างๆ ที่จะลอยละล่อง ปลิวไปตามลม บางอย่างเราก็เห็น บางอย่างก็มองไม่เห็น พอเราหายใจเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไป ก็จะเกิดอาการจาม คันคอ น้ำตาไหลไม่หยุด หนักๆ เข้าก็อาจจะจับไข้ได้
แต่อาการหลักๆ ที่จะบอกได้ว่า เป็นภูมิแพ้ หรือ allergy แล้วนะ ก็คือ คันตา คันจมูก น้ำตาไหล คันคอ จามติดต่อกันเป็นชุดๆ ไม่ใช่แบบว่า ลาก ฮาด ไปยาวๆ แล้วค่อย เช่ย แต่มันจะ เช่ย เช่ย เช่ย ติดกันไปเลย เหนื่อย จามเสร็จเจ็บคอทันที
ช่วงนี้เราจะสังเกตเห็นรถของเรากลับกลายเป็นสีเหลืองภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อจอดรถไว้กลางแจ้ง (โดยเฉพาะรถสีขาว) เมื่อมองใกล้ๆจะเห็นเป็นละอองสีเหลือง เกาะเต็มรถไปหมดเลยค่ะ ขนาดรถยังโดนละอองเกสรปกคลุมไปทั่ว ระบบหายใจของเราก็คงจะมีละอองเกสรพวกนี้เข้าไปด้วยเมื่อสูดหายใจเข้าไปอย่างแน่นอน
ยาที่บรรเทาอาการภูมิแพ้ หาซื้อได้ง่ายมากค่ะ ตามร้านขายยาทั่วไป ไม่ใช่ยาที่จะต้องซื้อด้วยใบสั่งแพทย์ ยาแก้แพ้พวกนี้จะทำให้ง่วง แต่บางยี่ห้อกินแล้วไม่ง่วงก็มี หรืออาจแบ่งเป็นยากลางวัน-กลางคืน แพ๊กคู่ในกล่องเดียว หรือบางยี่ห้อก็จะออกมาแรงหน่อย กินเม็ดเดียว หยุดอาการได้ทั้ง 24 ชม.
มีข้อแนะนำค่ะว่า ยาแก้แพ้พวกนี้ มีสารออกฤทธิ์ได้หลายตัว แต่ละยี่ห้อจะใช้ตัวยาไม่เหมือนกัน ให้ลองทดสอบดูกับตัวเองก่อนว่า ยี่ห้อนี้ ตัวยานี้ (สังเกตจากข้างกล่อง) เราใช้แล้วได้ผลหรือเปล่า ถ้าใช้ไม่ได้ผล ก็ลองเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นดู (ยาพวกนี้ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ค่ะ) จะมีตัวยาแก้แพ้นี้อยู่ สัก 4 -5 ตัว จากหลากหลายยี่ห้อ
ส่วนใครที่มีการภูมิแพ้เรื้อรัง ไม่หายซักที แนะนำวิธีแก้ที่ถูกต้อง คือควรจะหาให้ได้ว่า เราแพ้อะไร เราสามารถจะไปตรวจได้ตามโรงพยาบาลหรือคลีนิค บอกเขาว่า อยากจะ allergy test เขาจะเอาสิ่งต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุ มาทดสอบกับเรา ค่าใช้จ่ายจะแพงเอาเรื่องอยู่ เคยลองถามโรงพยาบาลใกล้บ้าน จำได้ว่า เกือบพันเหรียญ เลยตัดใจ คิดซะว่าเป็นแค่ช่วงไม่กี่เดือน ซื้อยามาประทังไปดีกว่า ถูกกว่ากันเยอะเลย
2 โรคอ้วน
โรคอ้วน ถือเป็นโรคยอดฮิตในอเมริกา ใครมาอยู่อเมริกาส่วนใหญ่จะบ่นว่าน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
คนไทยที่อยู่ที่นี่กินอาหารที่เรียกว่า “อาหารขยะ” มากเกินไป ออกกำลังกายน้อยลง จึงทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้น อ้วนขึ้น แต่ไม่แข็งแรง มีปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บ ไม่อดทน ไม่สู้งาน แถมมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ลดน้อยลง
จะพบว่าอเมริกาในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาหารฟาตส์ฟูตที่ราคาถูกลง สินค้ามากขึ้นเต็มร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นนม เนย ไข่ ไก่ หมู เนื้อ ปลา ข้าวนานาชนิด คนที่นี่ เลยมี(ของอ้วนๆ)ให้กินให้เลือกมากขึ้น จนแทบไม่รู้ว่าจะเลือกผลิตภัณฑ์ยี่ห้อไหนดี
พวกขนมนมเนย โดยเฉพาะพวกเค้ก ไอศครีม คุ๊กกี้ต่างๆก็อร่อยๆ มีให้เลือกมากมาย เพิ่มความอ้วนทั้งนั้น อุปกรณ์ทำขนม และส่วนประกอบทำขนมต่างๆก็มีให้เลือกครบครัน ทำกินเองได้แสนง่ายสะดวกมาก สาวๆมาเจออย่างนี้ ก็อดใจไม่ไหวเลยค่ะ
นอกจากนี้ คนที่นี่มีเครื่องมือช่วยในการทำงานทำให้เราทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง เช่น เครื่องล้างจาน เครื่องอบผ้า ดังนั้น การเคลื่อนไหวของร่างการก็ลดลงไปด้วย
ทั้งกินอาหารขยะเยอะ และใช้แรงงานน้อยลงอย่างนี้ โรคอ้วน เลยเริ่มเป็นโรคฮิตที่คนไทยในอเมริกาเป็นกันค่ะ
3 โรคไข้หวัดใหญ่
ในอเมริกา การฉีดยากันไข้หวัดใหญ่ (Flu Shot) เป็นสิ่งที่ต้องทำกันเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ค่ะ และที่จำเป็นที่สุดคือ ผู้สูงอายุ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ โดยการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นี้ มักจะเริ่มก่อนเข้าฤดูหนาว
เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทีละน้อยในแต่ละปี ดังนั้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะต้องมีการผลิตใหม่สำหรับแต่ละปี โดยปรับให้ตรงกับสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่เป็นส่วนใหญ่ค่ะ
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย มีประชากรหลายล้านคนในอเมริกา ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี ในกรณีที่มีอาการมาก ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นนาน 3 ถึง 5 วัน และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีแล้วยังอาจมีอาการไอ และเพลียเรื้อรังนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ไข้หวัดใหญ่อาจมีความรุนแรงและทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ผู้ป่วยจำนวนมากในอเมริกา เป็นร้อยถึงเป็นพันคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละปี ในปีที่มีการระบาดเป็นพิเศษ อาจมีผู้ป่วยเสียชีวิต สูงถึง 40,000 คนในช่วงหน้าหนาวของแต่ละปีค่ะ ส่วนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงที่สุดนั้น เรียกว่า หวัดสเปน (Spanish Flu) ระบาดทั่วโลก ในปี คศ. 1918 ถึง 1920 มีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคน
ดังนั้น ใครมาอยู่อเมริกาแล้ว ต้องอย่าลืมเตรียมตัวฉีดยาวัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้ทุกปีนะคะ เข็มละประมาณ 30 เหรียญค่ะ เราไม่จำเป็นต้องนัดหมาย หรือไปคลีนิคอะไรทั้งสิ้น การให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีอยู่ทั่วไปตามร้าน Grocery Store ค่ะ เดินเข้าไปขอรับบริการได้เลย
เรามาทำความรู้จัก โรคไข้หวัดใหญ่กันเสียหน่อยค่ะ
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร (What is Influenza ?)
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โรคนี้มีการระบาดในประเทศต่างๆในซีกโลกเหนือในช่วงฤดูหนาวของทุกปี(เดือนตุลาคม ถึง เมษายน) ส่วนประเทศในซีกโลกใต้มีการระบาดในช่วงกลางปีของทุกปี (เดือนเมษายน ถึง กันยายน) โดยจะมีการระบาดนาน 6 ถึง 8 สัปดาห์
เชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอจามรดกัน หรือติดต่อโดยมือสัมผัสกับน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วยที่อาจติดอยู่กับของใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ราวบันได ลูกบิดประตู แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า เชื้อโรคจะเข้าสู่เยื่อบุจมูกและปากได้
หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1 – 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38-40 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่มักมีอาการรุนแรงกว่าและอาจจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน
4 โรคกรดไหลย้อน
ล่าสุดยังมีโรคกรดไหลย้อน ที่ก็ฮิตไม่แพ้กันในอเมริกา ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็ส่งผลกระทบในด้านการทนทุกข์ทรมาน รวมถึงต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงด้วยนะคะ
คนไทยเราเมื่อมาอยู่อเมริกา ส่วนใหญ่มักกินอาหารไม่ค่อยตรงเวลา หรือบางทีทำงานหนักตลอดวัน โดยไม่มีเวลากินอาหาร บางคนทำงานแล้วมีความเครียดสูง
หรือไม่ก็มีเวลาน้อยมากในการกิน พอถึงเวลาอาหารก็กินอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไทยในอเมริกามีแนวโน้มเป็นโรคกรดไหลย้อนกันมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ
โรคกรดไหลย้อน คือภาวะที่มีกรด และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและน้ำดี ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร
โดยปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงสู่ด้านล่าง และหูรูดจะทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร แต่ในบางคนนั้นหูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลง จึงทำให้มีกรด หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาทำให้ผนังหลอดอาหารอักเสบ และการไหลย้อนของกรด ถ้ามีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอหรือปอดได้
หากละเลยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เรื้อรัง มีความเสี่ยงให้กลายเป็น ‘มะเร็งหลอดอาหาร’ ได้เช่นกัน
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้คือพฤติกรรมเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินอาหารรสจัดและของทอด กินอาหารมื้อหนักตอนดึก ๆ มีภาวะอ้วน เป็นต้น
อาการและสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคกรดไหลย้อนก็คือ ปวดแสบร้อนบริเวณกลางอก หรือบริเวณลิ้นปี่ รู้สึกมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบากหรือกลืนแล้วเจ็บ เจ็บคอหรือแสบลิ้นเรื้อรังโดยเฉพาะในตอนเช้า หรือไอแห้ง รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือมีรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะ
อยู่ในคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ และรู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย
ซึ่งอาการเหล่านี้ จะรุนแรงขึ้นหรือเกิดได้บ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเครียดในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การศึกษาในประเทศอเมริกา พบว่า 60% ของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีอาการปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง โดย 75% นอนหลับยาก 51% รบกวนการทำงาน และอีก 40% ออกกำลังกายไม่ได้
หากละเลยไม่ดูแลรักษา ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิด มะเร็งหลอดอาหารได้ค่ะ ดังนั้นการปรับเปลี่ยน
พฤติกรรม เช่น ควบคุมจัดการความเครียด รวมทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะทำ และหากจำเป็นต้องกินยา ควรเลือกยาที่สามารถป้องกันการไหลย้อนของกรด น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้การรับประทานอาหารก็ควรให้อิ่มพอดี อย่ากินอาหารเร็วจนเกินไป และอย่ารับประทานอาหารใกล้เวลานอนเพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักตัว อย่าใส่เสื้อผ้าคับเกินไป เนื่องจากจะเพิ่มความดัน ในช่องท้องให้มากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
5 โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง
ฮ้า
ว…..หาวอีกแล้ว เมื่อคืนก็ว่านอนหลับสนิทดีแล้วนะ
ทำไมตื่นเช้ามานั่งทำงานถึงสัปหงกทุกที แถมยังรู้สึกเพลีย อยากนอนตลอดเวลา
ใครมีอาการแบบนี้ต้องระวังหน่อยนะคะ
เพราะคุณอาจกำลังเป็น “โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง” หรือ “ไฮโปไกลซีเมีย” ก็เป็นได้
แล้วโรคอ่อนเพลียเรื้อรังนี้คือโรคอะไรกันนะ?
ต้องบอกว่า โรคที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอะไรหรอกนะคะ แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตแบบผิดๆ โดยเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Chronic fatigue syndrome (CFS) หรืออาจจะเรียกว่า โรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรตลอดทั้งวัน
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่า อะไรที่ทำให้คนไทยในอเมริกามีอาการไฮโปไกลซีเมียดังที่ว่า ก็พฤติกรรมหลายอย่างค่ะ บางคนตอนอยู่ไทยกินอาหารอย่างดีเชียว แต่พอมาอยู่ที่นี่ อาหารดีๆที่เคยกินในไทยกลับมีราคาแพงมาก เลยหันไปกินอาหารจำพวกแป้งขัดขาว น้ำตาล อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม พิซซ่า หรือขนมหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเข้าไปเต็มๆ
การกินอาหารเช่นนี้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทีนี้ ตับอ่อนก็จะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลง
พอระดับน้ำตาลลดลงไม่เท่าไหร่ เราเกิดรับประทานอาหารจำพวกนี้เข้าไปอีก
น้ำตาลในเลือดก็สูงขึ้นมาอีกแล้ว
ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาลดน้ำตาลอีกครั้ง
ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแล้วลงต่ำสลับกันไปตลอดเวลา
ซึ่งเท่ากับว่า ตับอ่อนก็ต้องทำงานตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว ไลฟ์สไตล์ของคนไทยในอเมริกาที่ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมอันเป็นพิษ
ความเครียด ความรีบเร่ง ความยุ่งเหยิงในการดำเนินชีวิต นอนดึก ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เหนื่อยได้ง่าย ๆ และยิ่งใครทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้เจ็บป่วยหนักขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวค่ะ
โรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) นี้ มีอาการหลัก ๆ คือ รู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง ทั้งที่นอนมาหลายชั่วโมงแล้ว แต่กลับไม่รู้สึกสดชื่นเลย อยากนอนตลอดเวลา
บางคนทำงานไปได้ถึงตอนบ่าย ๆ เกิดรู้สึกง่วงเพลียจนอยากหลับเลยทีเดียว แถมยังสมองมึนซึม ปวดเนื้อปวดตัว รวมทั้งระบบขับถ่ายจะมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ลำไส้แปรปรวน ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็ส่งสัญญาณว่า โรคไฮโปไกลซีเมียกำลังมาเยือนคุณแล้วล่ะค่ะ
6 โรคคันตามมือ ตามเท้า
โรคนี้ก็เป็นกันเยอะค่ะ เนื่องจากว่าต้องอาบน้ำอุ่นกันตลอดเวลาที่มาอยู่ในอเมริกา อาบน้ำอุ่นไปตลอดจนติดไปแล้ว อาบน้ำเสร็จแล้วไม่ทาโลชั่น ผลที่ได้ก็คือเป็นโรคคันตามตัวค่ะ เพราะน้ำมันของผิวจะหายไป ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นมาก
วันแรกๆที่ไม่ได้ทาโลชั่นยังไม่เป็นอะไรหรอก แต่พอสัก 3-4 วัน จะเกิดอาการคัน แล้วจะแสบตามมาเพราะผิวแตก ดังนั้นวิธีแก้ไขคืออาบน้ำด้วยสบู่ที่มีส่วนผสมมอยส์เจอร์ไรเซอร์ หรืออาบน้ำเสร็จทาโลชั่นทันทีค่ะ
7 โรคเลือดกำเดาไหล
คนที่เพิ่งอยู่อเมริกา ในช่วงหน้าหนาวอาจจะมีอาการนี้นั่นก็คือ เลือดกำเดาไหล ตื่นนอนตอนเช้า พอเช็ดหน้าเช็ดตา แล้วมีเลือดเปอะด้วย เลือดไม่ได้ออกเยอะค่ะ แต่เราก็รู้ได้ว่าเลือดออกในจมูก หลายคนไม่เคยเป็นเลยตอนอยู่เมืองไทยแต่พอมาอเมริกาแล้วเป็น เราก็เคยเป็นเหมือนกันค่ะ
ช่วงแรกๆก็ตกใจว่ามีอะไรผิดปกติกับร่างกายเราหรือเปล่า เอ๊ะหรือทำงานหนักมากไป พักผ่อนน้อย???? แต่สุดท้ายก็มาถึงบางอ้อว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรืออากาศแห้งมากๆนั่นเอง แนะนำเปิด
เครื่อง Humidifier ได้ หรือใครไม่มีก็สามารถ เอากระป๋องใส่ น้ำมาวางข้างเตียง อาจารย์เราแนะนำว่าให้เอาผ้าชุบน้ำเปียกๆมาวางไว้บนหัวเตียง เพื่อเพิ่มความชื้นในห้อง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประหยัดดีค่ะ
8 โรคคิดถึงบ้าน
“โรคคิดถึงบ้าน (Homesick)” เมื่อมาอยู่ในอเมริกาหลายคนจะมีอาการนี้ เป็นมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดกับคนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่งแล้วเกิดความคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้านอย่างหนักหน่วง
อาการจะแย่ลงเรื่อยๆ คือเศร้าซึม หดหู่ อยู่ดีๆ ก็ไม่มีความสุข รู้สึกเหมือนรอยยิ้มได้โบกมือลาเราไปตลอดกาล เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชั้นมาทำ(บ้า)อะไรที่นี่? เมื่อไหร่จะได้กลับไทย? ทำไมเรียนไม่เข้าใจ? ทำไมมันเศร้าอย่างไม่มีเหตุผล? พอหาคำคอบไม่ได้อาการก็กำเริบขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
– พูดในใจมากขึ้น พูดกับคนน้อยลง
– อยากโทรศัทพ์คุยกับครอบครัวที่ไทยใจจะขาด แต่พอคุยๆ ไปกลับไม่มีอะไรพูด เพราะน้ำตามันเริ่มกลบหน้า เสียงเริ่มสั่นแต่ก็ต้องพยายามทำตัวเข้มแข็งไม่ให้ที่บ้านต้องเป็นห่วง
โรคที่เกิดโดยตรงกับร่างกาย เช่นโรคติดต่อต่างๆ เราสามารถแก้ไขได้ไม่ยากค่ะ เพราะคนอเมริกันเขาจะคิดค้นวิธีการป้องกันรักษาไว้อย่างดีสำหรับคนในประเทศเขา เราเพียงกินยา หรือฉีดยาตามที่เขาแนะนำ ก็จะได้ผลดีค่ะ
แต่โรคที่เกิดจากจิตใจ หรือพฤติกรรมประจำวัน ไม่สามารถใช้ยาใดๆทำให้เราหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้เด็ดขาดนะคะ เราเองเท่านั้น ที่จะต้องเป็นผู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแย่ๆ เพื่อรักษาตัวเราเอง
มาอยู่อเมริกาแล้ว หลายคนทำงานหนักเพื่อเงิน หรือเอาแต่ซึมเศร้า ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองเลย มารู้ตัวอีกที ก็ตอนที่ร่างกายเราแย่เต็มที ทำงานให้เราไม่ไหวแล้ว เงินที่อุตสาห์ลำบากเก็บสะสมมา ก็อาจจะต้องเอามาใช้เพื่อรักษาร่างกายนี้ก็เป็นได้ เพราะค่ารักษาในอเมริกาก็แพงมากจนน่ากลัวเลยหละค่ะ
ดังนั้น ร่างกายนี้ เมื่อเราใช้งานเค้าหนักแล้ว ก็ต้องทนุถนอม ดูแลเค้าให้ดีด้วยนะคะ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆในอเมริกาค่ะ!
ขอบคุณนะครับที่ให้คำแนะนำต่างๆ จะรู้สึกว่าเรื่องความเหงานี่เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันคับ ชีวิตเรียนไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่เลยทำงาน ก็..เหมือนหัวเดียวกะเทียมลีบ แก้ยากครับ
เป็นบทความที่ดี ตรงใจ และเป็นประโยชน์มากค่ะ