คำตอบสุดท้ายของ Phil ในวัน Groundhog day
ท่ามกลางละอองหิมะ ที่ปรายโปรยลงมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์กลางฤดูหนาว อากาศหนาวเหน็บ อุณหภูมิติดลบ ณ ที่แห่งนี้ ในเมือง Punxsutawney (ชื่อเมืองดูอ่านยากจริงค่ะ อ่านว่า พั๊งค์ซูทาวนีย์) รัฐ เพนซีวาเนีย (Pennsylvania) ชาวอเมริกันนับหมื่นรวมทั้งนักข่าวจากสำนักงานข่าวต่างๆ ต่างมารวมตัวกัน ไม่หวั่นแม้ความหนาว เฝ้ารอดูสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้าในอีกไม่ช้า ในที่สุด พระเอกของเราก็ออกมา คุณนายกเทศมนตรีรูปร่างท้วม สวมชุดสูทสมัยโบราณก็ชู เจ้า Phil ตัว Groundhog นักพยากรณ์ขึ้นมาอวดทุกๆคน
ในวินาทีที่เจ้า Phil โผล่ออกมา ชาวอเมริกันต่างโห่ร้องเชียร์ ปรบมือให้กำลังใจ Phil กันท่วมท้น ท่ามกลางแสงวูบวาบของแฟลชที่บรรดาตากล้องบรรจงรัวชัดเตอร์ใส่ไม่หยุด Phil นั้นยังคงง่วงงุนอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความที่เป็นขวัญใจของประชาชนมายาวนาน Phil จึงยังคงอยู่นิ่ง ท่ามกลางบรรยายกาศอึกทึกของผู้คนที่อยู่รายรอบ
Groundhog Day จัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งในแคนาดาและรัฐทางเหนือของอเมริกา บนความเชื่อเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อมาว่า ถ้ากราวด์ฮอกโผล่ออกมาจากโพรงในวันนี้ และทิ้งโพรงไปหากินทันที นั่นหมายถึงฤดูหนาวใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว จากนั้นใบไม้ผลิจะมาถึงในไม่ช้า
แต่ถ้ากราวด์ฮอกโผล่ออกมาจากโพรงในวันนั้นแล้วเห็นเงาของตัวเอง แสดงว่า ปีนั้นฤดูหนาวจะยาวนานต่อไปอีก 6 อาทิตย์ ก็จะเข้าสู่ใบไม้ผลิ คือ ไม่ว่า กราวด์ฮอกจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร ก็ถือเป็นเรื่องเล่นสนุกของผู้คนในเมืองหิมะที่เบื่อหิมะอันแสนยาวนานนั่นเองค่ะ
การฉลอง Groundhog Day เริ่มครั้งแรกในอเมริกาที่รัฐ Pennsylvania มีจุดเริ่มต้นมาจากตำนานเก่าแก่ของเยอรมันในศตวรรษที่ 18 โดยมีนิทาน พื้นบ้านเล่าต่อๆ กันมาเรื่องตัวแบดเจอร์ที่สามารถพยากรณ์อากาศได้ แต่เล่ากันอีท่าไหนไม่รู้ พอตกทอดมาถึงอเมริกา สัตว์ที่สามารถพยากรณ์อากาศได้กลับกลายเป็นกราวด์ฮอกไปซะอย่างงั้น ไม่ยักใช่แบดเจอร์แต่อย่างใด
เทศกาลนี้มีความคล้ายคลึงกับอีกหลายเทศกาลที่มีการพยากรณ์อากาศในเดือนกุมภาพันธ์ เช่น เทศกาลของชาวคาทอลิคที่เรียกว่า Candlemas หรือ เทศกาลของชาว Celtic ที่เรียกว่า Imbolc ซึ่งฉลองกันในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ เช่นกัน
เมื่อชาวยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันและไอร์แลนด์อพยพสู่โลกใหม่ ก็นำประเพณีเก่าแก่มาด้วย โดยเริ่มต้นฉลองกันเป็นครั้งแรกในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะรัฐนี้ถือเป็นชุมชนชาวเยอรมันอพยพที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเมื่อครั้งอดีตกาล
การฉลองในโลกใหม่ จะเริ่มต้นด้วยการเฝ้ามองกราวด์ฮอกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ว่าจะโผล่ออกมาจากโพรงและพยากรณ์อากาศปีนั้นอย่างไร โดยนายกเทศมนตรีของเมืองจะแต่งตัวแบบโบราณ รวมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ด้วยภาษาโบราณ หลังจากนั้น ผู้คนก็จะไปฉลองและดื่มกินกันที่ร้านอาหารหรือบาร์ที่จัดไว้เพื่อเฉลิมฉลองวันนั้นโดยเฉพาะ และบางแห่งก็บังคับให้คุยกันด้วยภาษาเยอรมันโบราณ ห้ามพูดภาษาอังกฤษ หากใครหลุดภาษาอังกฤษออกมา จะถูกปรับคำละ 25 เซนต์ แต่จะโดนปรับมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคำที่หลุดปากออกมา
เทศกาลฉลอง Groundhog Day อันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอยู่ที่ Punxsutawney เมืองเล็กๆ ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมืองนี้ ฉลอง Groundhog Day มาตั้งแต่ปี 1886 นอกเหนือจากที่นี่แล้ว การจัดงานเฉลิมฉลองยังกระจายตัวไปทั่วรัฐนี้และรัฐอื่น เช่น บางเมืองในรัฐแมรี่แลนด์ และบางพื้นที่ ในรัฐเวอร์จิเนีย กระจายตัวข้ามมาในโซน Midwest เช่น ในรัฐอิลินอยส์ พลัดไปหล่นแถวรัฐจอร์เจียนิดหนึ่ง แล้วกระจายไปหลายพื้นที่ในแคนาดา หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการฉลองกราวด์ฮอกเดย์ในอเมริกาเป็นเอกสารบันทึกแห่งรัฐเพนซิลเวเนียโดย James Morris ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 1841
จะว่าไป นี้ก็เป็นเทศกาลเล่นสนุกของคนในเขตโซนหิมะนั่นเอง เพราะทั้งอีสโคสต์ มิดเวสต์ และแคนาดา ล้วนมีหิมะตกสาหัสหนาเป็นฟุตๆ ในฤดูหนาวและมีฤดูหนาวที่ยาวนานกว่ารัฐทางตอนใต้ทั้งสิ้น
หลายคนคงเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Groundhog Day ซึ่งสร้างในปี 1993 นำแสดงโดย Bill Murray คงจำได้ว่า ฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกฉาก เป็นฉากในเมือง Punxsutawney ค่ะ
แม้ว่า หลายรัฐในอเมริกาและแคนาดาจะฉลองเทศกาลนี้ แต่กราวด์ฮอกนักพยากรณ์อากาศที่โด่งดังที่สุดในโลกมีชื่อว่า ฟิลด์ หรือรู้จักกันในนาม Phil of Punxsutawney ในรัฐเพนซิลเวเนียและกราวด์ฮอกชื่อ Wiarton Wilie ใน Wiarton ออนตาริโอ แคนาดา โดยเฉพาะที่ออนตาริโอนี้ มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของกราวด์ฮอกสัญลักษณ์ของเมืองเลยทีเดียว
ส่วน Phil เป็นกราวด์ฮอกสัญชาติอเมริกันที่โด่งดังกลายเป็นขวัญใจคนอเมริกันมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์เรื่อง Groundhog Day ออกฉายเมื่อปี 1993 ชื่อเสียงของฟิลด์ก็ดังทะลุฟ้ามาแรงยิ่งกว่าเป็นดาราฮอลลีวู้ด
ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้คนจากทั่วอเมริกาจะแห่ไปดูฟิลด์พยากรณ์อากาศที่เมือง Punxsutawney โดยนายกเทศมนตรีและคนสำคัญๆ ในเมืองจะแต่งตัวแบบโบราณ ใส่เสื้อสูทแบบหางนกกางเขนและใส่หมวกทรงสูงไปปลุกฟิลด์ออกมาจากบ้านโพรงไม้ท่ามกลางสายตาแฟนๆ นับหมื่น แล้วอุ้มฟิลด์ออกมาให้คนถ่ายรูป เพื่อถ่ายทอดข่าวไปทั่วประเทศ
ดูๆ ไปก็น่าสงสารฟิลด์ เพราะโดนควักตัวออกมาจากโพรงแต่เช้าตรู่ หนาวก็หนาว บางปี ก็เห็นฟิลด์หนาวจนขี้มูกยืด หน้าตาง่วงงุน พอแถลงเสร็จ ก็ชูฟิลด์ขึ้นไปกลางอากาศ ในขณะที่ฝูงชนโห่ร้องเชียร์กราวด์ฮอกตัวโปรดกันเสียงขรมถมเถ ภาพนายกเทศมนตรีเมืองที่ชูฟิลด์ขึ้นไปสุดแขนท่ามกลางเสียงอื้ออึงของฝูงชนเป็นภาพที่อเมริกันชนวาดหวังว่าจะได้เห็นในวันนี้
ในปี 2013 นี้ มีผู้คนมารอดูฟิลด์นักพยากรณ์ถึงกว่า 25,000 คนค่ะ ตอนเช้าตรู่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 7:25 นายกเทศมนตรีเมือง Punxsutawney ได้ฤกษ์ นำ Phil ออกมาจากโพรง แล้วเอามาส่องกับผืนผ้า จากนั้นก็กระซิบถามคำทำนายแม่นๆจาก Phil ยังไม่ทันเจ้าฟิลด์จะตอบว่าอะไร นายกรัฐมนตรีผู้อ่านใจเจ้าฟิลด์ได้ ก็ประกาศกับชาวอเมริกันทั้งหลายว่า
“…And so ye faithful, there is no shadow to see, an early Spring for you and me,”
สรุปได้ว่าปี 2013 ปีนี้ อากาศฤดูใบไม้ผลิ กำลังใกล้เข้ามาแล้วค่ะ เย้! ปีนี้ ผู้คนออกจะดีใจเป็นพิเศษ เพราะ Phil ได้ทำนายไว้ในปีก่อนๆ ต่อเนื่องกันถึง 9 ปีซ้อน ว่าฤดูหนาวจะยืดยาวออกไปอีก 6 สัปดาห์ แต่ปีนี้ ส่องแล้วไม่เห็นเงาของตัวเอง Phil เลยต้องขอประกาศว่า ปี 2013 นี้ อากาศหนาวจะหมดไปในไม่ช้าค่ะ
ข้อมูลประกอบ: http://www.oknation.net/blog/charoenkwan/2010/02/10/entry-1
เครดิตภาพ: http://www.examiner.com