สัพเพเหระในอเมริกา

จะเรียนอะไรดีหนอ? ในอเมริกา

จะเรียนอะไรดีหนอ? ในอเมริกาวิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา…”การศึกษาเป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่และคุ้มค่าที่สุดในชีวิต มีนักลงทุน นักธุรกิจ หรือ แม้แต่กิจการใหญ่ๆ อย่างเช่น ธนาคาร (ขอสงวนชื่อนะคะ) ที่เปิดมานานกว่า 120 ปีมีสาขาทั่วโลกก็สามารถล้มละลายสูญเสียทุกอย่างได้ในชั่วข้ามคืน ผิดกับการลงทุนในการศึกษาที่ผู้ลงทุนทุกคนจะได้รับวิชาความรู้เป็นกำไรตอบแทนในการลงทุน และกำไรความรู้นี้จะเป็นสมบัติติดตัวผู้นั้นไปตลอดชีวิตโดยไม่มีทางที่จะสูญเสียเลยทีเดียว

 
ย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองเมื่อประมาณ 1 ทศวรรษครึ่งที่แล้ว ตอนนั้นจำได้ว่ากลับบ้านไปบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากจะเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ด้วยความที่เป็นคนขยันเรียนในระดับล่างๆ คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นห่วงว่าจะไหวไม๊ จะเรียนจบหรือไม่ แต่ที่สุดพวกท่านก็เปิดไฟเขียวค่ะ ตอนนั้นจำคำพูดได้ดีว่า “คงไม่มีอะไรจะติดตัวลูกไปจนตายนอกจากความรู้ ไปแล้วก็อย่าขี้เกียจล่ะ” แหม!พูดแล้วก็ให้เกิดอาการตื้นตัน มาเข้าเรื่องหลักดีกว่าค่ะ วันนี้จะมาเล่าถ่ายประสบการณ์และมุมมองของการเลือกสาขาวิชา เผื่อน้องๆจะได้เอาไปใช้ประกอบการตัดสินใจค่ะ

 
พูดอย่างตรงไปตรงมาเหตุผลหรือสิ่งบรรดาลใจที่ตัวเองตัดสินใจมาเรียนก็เพราะรายได้ค่ะ หลังจากจบปริญญาตรีแล้วก็ทำงานอยู่หลายปี ความจริงแล้วงานที่ทำอยู่ที่กรุงเทพฯตอนนั้นก็มั่นคงดี เงินเดือนก็สูงพอใช้ได้ แต่พอมาคิดดูกับค่าผ่อนคอนโดฯ ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็เห็นว่าตัวเองคงไม่มีเหลือเก็บ บางเดือนถ้าติดเพื่อน ติดหรูหน่อยก็ไม่พอใช้ ก็เลยคิดว่าต้องเรียนต่อจะได้หางานใหม่ที่มีเงินเดือนสูงกว่า แต่จะทำยังไงเมื่อการแข่งขันในตลาดงานสูง เราก็ต้องเพิ่มพูนความสามารถของตัวเองโดยการหาความรู้ เท่านั้นไม่พอเพิ่มภาษาเข้าไปด้วยน่าจะแข่งกับคนอื่นได้ ก็เลยตัดสินใจมาอเมริกาค่ะ

 
ด้วยความที่จบบริหารธุรกิจ สาขาการเงินมาก็คิดว่าน่าจะเรียนต่อสาขาเดียวกัน อีกอย่างตอนนั้นเป็นช่วง Y2K ก็คือปีค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงที่ Globalization เริ่มที่จะโตเต็มตัว เพราะฉะนั้นการติดต่อสื่อสาร การค้าและธุรกิจระหว่างประเทศก็น่าจะดี คิดได้อย่างนี้ก็คิดว่าเรียนธุรกิจระหว่างประเทศดีกว่า วิธีเลือกคณะก็คือหาคณะที่มีใช้ชื่อ Business หรือ International อะไรทำนองนี้ดีกว่า ก็เลยได้มาลงเอยที่ Master of International Management ค่ะ

 
จะเห็นได้ว่า ส่วนตัวแล้วเลือกเรียนแบบสะเปะสะปะ คิดเองเออเองแล้วก็ตัดสินใจกระโดดลงน้ำเลยทันที ซึ่งสมัยนี้ไม่ขอแนะนำนะคะ เพราะว่าส่วนตัวถือว่าโชคเข้าข้างที่บังเอิญมาเจอวิชาที่ชื่อสวยแต่ใช้ได้จริง ถ้าน้องๆอยากจะเรียนต่อ โดยเฉพาะมาเมืองนอกที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง จะต้องคิดให้เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนกว่านี้ค่ะ จะบอกว่าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแล้วผลการสำรวจบอกว่าสาขานี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเท่านั้นก็ยังไม่พอและอาจจะช้าเกินไปค่ะ เพราะข้อมูลผลการสำรวจต่างๆที่มีในอินเตอร์เน็ตหรือสื่อต่างๆ จะต้องใช้เวลาในการวางแผน เก็บข้อมูล สรุปผล เขียนรายงาน จากนั้นถึงจะออกสู่สาธารณะชน ซึ่งอย่างเร็วก็ใช้เวลาอย่างน้อยหกเดือนหรือมากกว่านั้นค่ะ

 

เพราะฉะนั้นจะถ้าจะลงทุนเรียนต่อแล้ว ก็ต้องคิดถึงความถนัดและวัตถุประสงค์โดยรวมด้วยค่ะ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของระบบการศึกษาในแต่ละระดับของสหรัฐอเมริกากันก่อนนะคะ ส่วนตัวแล้วตอนแรกนั้นไม่รู้เกี่ยวกับนโยบายวางแผนและวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่นี่หรอกนะคะ มารู้เอาเมื่อไม่นานตอนที่ได้เข้าเรียนในระดับปริญญาเอกแล้วนี่แหละค่ะ วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาระดับปริญญาตรีก็คือการแนะนำทฤษฎีและขั้นตอนการปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของแต่ละสาขาอาชีพค่ะ เช่นสาขาการเงินก็จะเรียนรู้การทำงบการเงินและรายงานผลประกอบการทางการเงินประจำปีต่างๆ

 

หลังจากนักศึกษาได้รู้จักและเข้าใจการทำงานขั้นพื้นฐานแล้ว นักวิชาการทางการศึกษาก็วางแผนการศึกษาในระดับปริญญาโทว่า ผู้เรียนควรจะสามารถนำความรู้ต่างๆไปใช้ในการตัดสินใจในสถานะการณ์ต่างๆได้ จากตัวอย่างเดิมนะคะ ปริญญาโททางการเงินก็สารต่อโดยการวิเคราะห์หาสาเหตุของผลประกอบการ ถ้ามีปัญหาก็จะได้แก้ไข ถ้าไม่มีปัญหาก็วางแผนว่าจะปรับปรุง เพิ่ม หรือขยายการประกอบการหรือไม่ และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้นเป็นระดับที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะต้องสามารถสร้างความรู้ใหม่ๆให้กับวงการได้ โดยต่อเติมคำถามจากทฤษฎีเก่าที่นักวิชาการอื่นๆได้ทำไว้แล้ว มาศึกษาวิจัยและออกหาข้อมูลจริงมาวิเคราะห์ประมวลผลและรายงานออกมาเป็นความรู้ใหม่ หรือทฤษฎีใหม่ให้คนอื่นๆได้เรียนรู้ต่อไปค่ะ

 
หลังจากได้รู้วัตถุประสงค์การพัฒนาความรู้ของการศึกษาแต่ละระดับแล้ว ก็มาดูต่อว่าแนวโน้มของงานในแต่ละระดับ แต่ละสาขาวิชาว่าเมื่อจบแล้วเราน่าจะหางานอะไรทำได้บ้าง ตอนนี้น้องๆต้องทำการค้นคว้าเพิ่มเติมนิดหน่อยนะคะ ซึ่งอันที่จริงแล้วน้องๆก็คงต้องเข้าอินเตอร์เน็ตหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกนิดในส่วนนี้นะคะ อย่ามองหาแต่ข้อมูลในการสมัครเท่านั้น น้องๆจะต้องอ่านข้อมูลของสาขาวิชาด้วย ปกติแล้วในเว็บเพจของแต่ละโปรแกรมจะบอกรายละเอียดและวัตถุประสงค์ในการนำเสนอโปรแกรม ซึ่งจะบอกว่าหลังจากจบแล้วผู้เรียนจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นการเรียนรู้ตลาดงานของสาขาวิชานั้นล่วงหน้าค่ะ แต่เท่านี้ยังไม่เสร็จนะคะยังต้องมีการชั่งใจอีกขั้นหนึ่งค่ะ

 
จากข้อมูลของโปรแกรมที่น้องๆเห็นในเว็บเพจ น้องๆก็ลองมาพิจารณาดูอีกที่นะคะว่า เรื่องที่จะเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่น้องๆรักหรือสนใจที่จะทำหรือไม่ เพราะการเรียนในสิ่งที่เราอยากรู้และสนใจนั้น จะทำให้เรามีความกระตือรือร้นมากขึ้น อยากที่จะเรียนรู้ค้นคว้ามากขึ้น ซึ่งผลที่ได้รับก็คือน้องๆจะทำการค้นคว้าลึกขึ้นและกว้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว เวลาน้องๆออกไปหางานหรือตอบคำถามในการสัมภาษณ์ก็มีข้อมูลที่จะตอบ จะพูดคุยกับว่าที่นายจ้างได้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดขายที่ดีในการหางานที่เดียวละค่ะ

 
อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเพิ่มข้อคิดให้กับน้องๆที่จะมาเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่นี่ก็คือ การหาประสบการณ์การทำงานก่อนที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทค่ะ เพราะอย่างที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าการศึกษาในระดับปริญญาโท มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผู้จัดการที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือวางแผนต่างๆ การที่เรามีประสบการณ์การทำงานถึงแม้จะเป็นแค่พนักงานธรรมดา ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างการทำงานของหัวหน้าของเรา หรือได้รับรู้ปัญหาขององค์กรสักระยะหนึ่งก่อนที่จะไปเรียนต่อปริญญาโท จะช่วยให้เราเข้าใจทฤษฎีต่างๆและนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีขึ้นค่ะ นอกจากนี้ประสบการณ์ทำงานยังทำให้เราสามารถตั้งจุดมุ่งหมายของการทำงานในอนาคต ทำให้การตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนได้ตรงเป้าอีกด้วยค่ะ

 
อย่าลืมนะคะ การศึกษาหาความรู้เป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีให้กับชีวิตเสมอ แต่การลงทุนทุกชนิดต้องมีการศึกษาหาลู่ทางเสมอเช่นกัน เรียนรู้แนวโน้มตลาดงาน วัตถุประสงค์ของโปรแกรม และ ความต้องการในอนาคตของตัวเอง จะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนนั้นเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณเลยล่ะค่ะ

 


โดย  Supakorn Bagley, Intercultural Consulting and Services LLC.

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก: www.studycram.com,www.postgrad.com

www.theagentrater.com,life.halcode.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *