ประสบการณ์สุดมันส์ในอเมริกา

ชีวิตต้องสู้! เมื่อมาเรียนต่อในอเมริกา ตอนที่2

เริ่มหางานทำ-แบ่งเบาค่าใช้จ่าย

ตลอดสองปีที่เรียนอยู่ ถึงแม้ว่าทางบ้านจะมีกำลังส่งค่าเล่าเรียนแต่ก็ต้องทำงาน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลงบ้างด้วยเหมือนกันค่ะ พอได้เข้าเรียนปริญญาโทแล้วก็หางานทำค่ะ เรื่องหางานทำต้องระวังหน่อยนะคะ เพราะแต่ละรัฐจะมีกฎหมายกำหนดค่ะว่า นักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานอะไรได้บ้าง

ที่รัฐ Minnesota ตอนนั้นไม่อนุญาตให้ นักศึกษาต่างชาติทำงานนอกมหาวิทยาลัย ถ้างานไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนค่ะ แต่โชคดีมากที่ทางคณะต้องการนักศึกษามาช่วยทำงานพอดีค่ะ เลยได้ทำงานที่มหาวิทยาลัย

จำนวนชั่วโมงที่นักศึกษาสามารถทำงานได้ถูกจำกัดไว้ตามกฎของมหาวิทยาลัยค่ะ ในภาคเรียนปกตินักศึกษาสามารถทำงานในมหาวิทยาลัยได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในภาคฤดูร้อนทำงานเต็มเวลาได้สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงค่ะ

ตอนนั้นอัตราแลกเปลี่ยน ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯแพงมาก ก็เลยทำงานเต็มเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยอนุญาต วันและเวลาที่ทำงานก็เลือกตารางเวลาเองและตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่เราจะช่วยงาน พอหกโมงเย็นก็ไปเรียนจนถึงสามทุ่ม กว่าจะกลับถึงห้องพักก็ประมาณสี่ทุ่ม อาบน้ำ ทานอาหารเย็น หลังจากนั้นก็ทำการบ้านและอ่านหนังสือ ถ้ามีรายงานที่ต้องค้นคว้าก็จะแวะที่ห้องสมุด อยู่จนถึงเวลาห้องสมุดปิดเที่ยงคืน

เรียนในอเมริกาต้องขยันสุดๆ

ถ้ามา เรียนต่ออเมริกา จะขี้เกียจไม่ได้เลยค่ะ เพราะทุกๆวิชาจะต้องมีงานส่งทุกอาทิตย์ เวลาเรียนในห้องเรียนก็จะเป็นแบบสนทนากลุ่มค่ะ ถ้าไม่อ่านหนังสือไปก่อนหรืออ่านไม่จบ ก็จะร่วมวงสนทนาปรึกษาหรือออกความคิดเห็นไม่ได้ ซึ่งนี่ก็จะมีผลกระทบกับคะแนนค่ะ

มีอยู่วิชานึงนะคะที่ลงทะเบียนหลังจากที่คุณพ่อเสียได้ไม่นาน ตอนนั้นเสียใจมาก และไม่มีกระจิตกระใจจะเรียน ก็เลยอ่านหนังสือไม่ทันค่ะ พอประมาณเกือบๆกลางภาคเรียน อาจารย์ที่สอนก็เรียกไปบอกว่า ถ้าไม่ร่วมปรึกษาหรือแสดงความคิดเห็นในชั่วโมงเรียน ก็จะมีปัญหากับคะแนนปลายภาค

นี่โชคดีนะคะที่อาจารย์เรียกไปเตือน เพราะปกติแล้วเขาไม่เรียกไปเตือนต้องรู้หน้าที่ของตัวเองค่ะ ก็เลยบอกความจริงไปเรื่องคุณพ่อ อาจารย์บอกว่าเข้าใจและเห็นใจมาก แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องตัดใจค่ะ คิดว่าคุณพ่อคงอยากจะเห็น A มากกว่าเกรดอื่น ก็เลยผ่านไปได้ด้วยดี

อาหารการกินในชีวิตวัยเรียน

เรื่องอาหารการกินก็ทำเองค่ะ ตอนที่อยู่เมืองไทยก็เคยช่วยคุณแม่หั่นๆตัดๆบ้างนิดหน่อยค่ะ ก็พอทำเป็นไม่ถึงกับเก่งอะไร แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็ต้องทำเองหมดค่ะ เพราะทานที่ร้านทุกวันไม่ไหว พออยากจะทานอะไรก็นึกเดาเอาค่ะว่าควรจะใส่อะไรบ้าง หรือไม่ก็ดูวิธีทำจากอินเตอร์เน็ต แต่ถ้ายุ่งยากก็จะดัดแปลงวิธีเอง ประมาณว่ามีอะไรก็ใส่ๆเข้าไป มันก็อร่อยดีเหมือนกันค่ะ

แต่ก็ไม่เหมือนที่ทานมาจากเมืองไทย  ทำไงได้ก็ต้องทนไปค่ะ ปกติจะมีเวลาทำอาหารในช่วงวันเสาร์วันอาทิตย์ เวลาทำก็ทำมากหน่อยแล้วเอาใส่ตู้เย็นไว้ ทานได้ทั้งอาทิตย์ค่ะ วันไหนทำงานก็ห่อข้าวกลางวันไปด้วยค่ะ ทำแบบนี้จะช่วยประหยัดเงินได้มากค่ะ

 

กฏหมายและระเบียบต่างๆในอเมริกาที่จำเป็นต้องรู้

อีกอย่างที่นักเรียนไทยหรือคนไทยที่มา เรียนต่ออเมริกา ต้องใส่ใจมากๆก็คือเรื่องกฎหมายหรือระเบียบต่างๆสำหรับคนต่างด้าว ถึงแม้ว่าเราจะมีสิทธิ์ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง วีซ่าแบบไหนทำอะไรได้บ้าง

ถ้าอยากจะทำอะไรอย่างอื่น ก็ต้องขออนุญาติ ขอเปลี่ยนวีซ่า ไหนจะใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ตหมดอายุ เอกสารหาย  เท่าที่เล่ามานี้ดูๆไปก็เหมือนว่าชีวิตไม่ได้ยากหนักหนาอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากจะต้องดูแลตัวเองในเรื่องทั่วๆไปแล้ว  ก็ต้องดูแลตัวเองในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ  เพราะ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายในแต่ละขั้นตอนและย่างก้าวในทุกๆวัน

สิ่งที่ยากที่สุดที่อยากให้ทุกคนรู้และเตรียมตัวก่อนที่จะมา เรียนต่ออเมริกา ก็คือการที่จะต้องคิด ต้องตัดสินใจ และต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองคนเดียว นี่เป็นเรื่องที่สำคัญและยากมาก

เรียนต่ออเมริกา

เมื่อมาอยู่ต่างชาติต่างภาษา โดยเฉพาะในประเทศที่คนในสังคมต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างในอเมริกานี่ต้องตื่นตัวและเรียนรู้กฎระเบียบทุกอย่างด้วยตัวเอง ถ้าเรื่องไหนไม่รู้ไม่แน่ใจก็ต้องถาม ที่สำคัญต้องถามให้ถูกคำถามและถูกคน ถึงจะได้รับคำตอบค่ะ

มันเป็นวิถีชีวิตที่ต้องคิดต้องศึกษาและวางแผนตลอดเวลา ต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเอง และก็ต้องเข้มแข็งมากๆด้วยค่ะ แต่ถ้าใครสามารถทำได้ ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จค่ะ  เพราะฉะนั้นมาเรียนต่ออเมริกา ต้องสู้และต้องอดทนนะคะ

ชีวิตต้องสู้! เมื่อมาเรียนต่อในอเมริกา ตอนที่1
เริ่มคิดมาเรียนต่อที่อเมริกา
เหยียบประเทศอเมริกา-เข้าโรงเรียน
เจอกับความหนาวสุดขั้ว
ช่วงเดือนแรกกับชีวิตนักศึกษาในอเมริกา
ต้องเรียนต่อโทให้ได้!

Author: Supakon,                                                                                             Intercultural Consulting and Services LLC

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *