การเปิดบัญชีธนาคารในอเมริกา
การเปิดบัญชีธนาคารในอเมริกา หลายคนอาจเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย ถ้ายังไม่ตายเดี๋ยวก็หาใหม่ได้” ใช่ไหมล่ะคะ? แต่สำหรับตัวของน้ำตาลเองนั้นกลับเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย ฉันหาแทบตายกลับไม่เคยพอใช้!!” เสียมากกว่า ซึ่งที่มันไม่เคยพอใช้นั่นอาจเป็นเพราะน้ำตาลยังไม่รู้จักการจัดการและการอดออมที่ถูกต้อง เลยโดนสิ่งยั่วยุเข้ามาปอกลอกเงินทองอันน้อยนิดที่กว่าจะหามาได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องมาอาศัยชายคาประเทศสหรัฐอเมริกา
ในบทความนี้เลยอยากจะเล่าถึงประสบการณ์การเปิดบัญชีธนาคารที่อเมริกาให้เพื่อนๆได้ทราบกันค่ะ เพราะการฝากเงินไว้กับธนาคารให้มากเท่าที่จะมากได้ย่อมเป็นอีกทางเลือกในการออมที่ดีกว่าการเก็บเงินไว้กับตัวที่แน่นอนว่ากิเลสมาเมื่อไหร่เงินจ๋าก็จะบ๊ายบายออกจากกระเป๋าของเราไปอย่างง่ายดายทันที
เมื่อมีโอกาสได้มาใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกาน้ำตาลก็ได้เปิดบัญชีธนาคารกับสองสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงของที่นี่ ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นก็คือ The Capitol One Bank กับ Bank of America ค่ะ แต่น้ำตาลไม่ได้เปิดบัญชีกับทั้งสองธนาคารพร้อมกันหรอกนะคะเพราะไม่ได้มีเงินเหลือเก็บขนาดนั้น โดยน้ำตาลได้เปิดบัญชีกับทาง The Capitol One Bank ก่อนค่ะ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2012
ในขณะนั้นน้ำตาลเดินทางมาประเทศหสหรัฐอเมริกาด้วย J-1 Visa ในฐานะ Aupair ค่ะ ดังนั้นตอนที่ไปเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรกโฮสแฟมิลี่หรือครอบครัวที่เราไปอยู่ด้วยจึงเป็นคนพาเราไป ความจริงก็ไปทำเองคนเดียวได้เลยนะคะแต่เป็นเพราะว่าภาษาของน้ำตาลยังไม่ดีพอเลยกลัวว่าจะคุยกับเจ้าหน้าที่ของทางธนาคารไม่รู้เรื่องน่ะ แหะๆ -..-
เมื่อไปถึงธนาคาร The Capitol One เราก็ต้องไปลงชื่อต่อคิวที่สมุดคิวลูกค้าของธนาคารกันก่อน สิ่งที่ต้องเขียนก็แค่ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ เท่านั้นค่ะ จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ของทางธนาคารมาเรียกตัวเราเข้าไปคุยด้วย จำได้เลยว่าในครั้งนั้นถ้าในธนาคารไม่เหลือแค่น้ำตาลกับโฮสที่เป็นลูกค้าคนสุดท้ายก่อนธนาคารจะปิด น้ำตาลก็ฟังไม่ออกหรอกค่ะว่าเจ้าหน้าที่เขาเรียกชื่อใคร
เจ้าหน้าที่เขาจะเข้ามาทักทายและแนะนำตัวกับเราก่อนค่ะ จากนั้นก็จะถามเราว่าเราต้องการมาทำอะไร จับไม้จับมือคุยเล่นคุยหัวกันพอประมาณ ก่อนที่เขาจะเชิญเราเข้าไปนั่งที่เคาท์เตอร์ทำงานของเขา ในวันนั้นเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงชาวอินเดียค่ะ เขาได้ถามน้ำตาลว่าจะเปิดบัญชีอะไร Saving Account หรือ Checking Account ซึ่งน้ำตาลเลือกเปิดบัญชีแบบ Checking Account ค่ะ
Checking Account เป็นบัญชีสำหรับกรณีฝากหรือถอนบ่อย ในระหว่างเปิดบัญชี Checking Account เจ้าหน้าที่ของธนาคารจะถามเราด้วยว่าเราต้องการ Bank Card (Debit Card หรือ Check Card) หรือไม่
โดย Bank Card นี้จะทำหน้าที่เหมือนกับบัตร ATM บวกกับ Debit Card ของบ้านเราคือใช้เบิกเงินสดจากตู้ ATM และใช้แทนเช็คเงินสด โดยทุกครั้งที่รูดบัตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด ธนาคารจะหักเงินออกจากบัญชีโดยตรงเป็นจำนวนเงินเท่านั้นและจะมีสมุด check ให้ด้วยซึ่งเช็คนี้จะนำไว้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องส่งทางไปรณีย์ (ส่วนมากพวกสาธารณูบริโภค น้ำ ไฟฟ้า อินเตอร์เนท หรือ เคเบิลทีวี) และบัญชี Checking นี้จะไม่มีดอกเบี้ยแต่มีไว้เพื่อความสะดวกในการใช้จ่ายต่างๆ ส่วน Saving Account เป็นบัญชีซึ่งมีไว้สำหรับเก็บเงินจำนวนมากและมีดอกเบี้ยให้ แต่ห้ามถอนก่อนถึงครบกำหนดมิฉะนั้นอาจไม่รับดอกเบี้ย ถ้ามีบัญชีนี้ต้องหมุนเงินให้เป็นนะคะถึงจะมีประโยชน์
เอกสารที่ใช้สำหรับการเปิด Checking Account ของ The Capitol One Bank ที่น้ำตาลเตรียมไปด้วยก็ได้แก่ พาสปอร์ต วีซ่า เลข Social security number ใบ I-94 ของ J-1 Visa และจดหมายจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่น่าเชื่อถือซึ่งส่งมาถึงเราตามที่อยู่ที่เราอ้างว่าเราพักอาศัยอยู่เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราอาศัยอยู่ที่นั่นจริง (โดยเอกสารอันนี้ตอนนั้นน้ำตาลใช้จดหมายของ Aupair in America ที่ส่งมายินดีต้อนรับเราค่ะ แต่คนอื่นจะใช้บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์หรือจดหมายอื่นๆก็ได้ไม่ว่ากัน) เมื่อเปิดบัญชีเสร็จแล้วเขาก็มีลาย Debit Card ให้เลือกด้วยนะคะว่าเราอยากได้ลายแบบไหนเราก็แค่เลือกลายที่ชอบไปแล้วเดี๋ยวพอดำเนินเรื่องต่างๆเสร็จเจ้าหน้าที่จึงจะส่งบัตรของเรามาให้ที่บ้านภายหลังค่ะ
หลังจากจบโครงการออแพร์ไปแล้วน้ำตาลก็ได้มีโอกาสกลับมาประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งด้วยวีซ่านักเรียนคราวนี้เลยได้มีโอกาสเปิดบัญชีใหม่กับธนาคาร Bank of America ค่ะ โดยเอกสารต่างๆที่ใช้เปิดบัญชีก็ได้แก่ พาสปอร์ต วีซ่า เลข Social security number และใบI-20 แต่เอกสารยืนยันที่อยู่นั้นไม่ได้ใช้ค่ะ แค่บอกเจ้าหน้าที่ไปว่าบ้านเราอยู่ไหนเขาก็จะคีย์ข้อมูลลงคอมให้เลย สำหรับการเปปิดบัญชีที่ Bank of America นี้ น้ำตาลก็เปิดแบบ Checking Account อีกค่ะ เพราะสะดวกสบายต่อการฝากและถอนเงินมากกว่าแต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ การทำบัตร Credit Card ค่ะ
คือนอกจากน้ำตาลจะมีบัตร Debit Card ไว้รูดใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของเราแล้ว ในปีนี้น้ำตาลอยากฝึกสะสมเครดิตสกอร์เผื่อไว้ใช้ในอนาคตด้วย เพราะน้ำตาลไม่เคยมีบัตรเครดิตส่วนตัวมาก่อนที่เคยใช้ก็เป็นของคุณพ่อคุณแม่ คราวนี้เลยอยากฝึกรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองเพราะคนอเมริกันเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับคนที่มีเครดิตสกอร์ดี ซึ่งเมื่อเวลาจะทำธุรกรรมอะไรคนมีเครดิตสกอร์ดีก็มักจะได้รับการอนุมัติอะไรต่างๆได้ง่ายกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการเงินตราและการใช้ชีวิตของเราเอง ก็คงต้องลองก่อนล่ะค่ะถ้าน้ำตาลคิดว่าตัวเองไม่มีความรับผิดชอบมากพอที่จะใช้มันเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะปิดหรือยกเลิกมันไป การทำบัตรเครดิตของ Bank of America ก็มีให้เลือกหลายแบบค่ะ ซึ่งที่น้ำตาลเลือกทำไปก็เป็นแบบ Cash Rewards Credit Card for Students โดยต้องวางเงินประกันขั้นต่ำที่ $300 ใน 1 ปีแรกโดยเราจะถอนออกมาใช้จ่ายไม่ได้ พอครบปีเขาถึงจะคืนให้หรือตัดสินใจให้วงเงินในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งก็แล้วแต่การพิจารณาของแต่ละบุคคล
อันนี้เป็นเพียงประสบการณ์เล็กๆน้อยๆของตัวน้ำตาลเองที่ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆธรรมดาทั่วไปแต่พอได้มองย้อนกลับไปมันก็ทำให้เราเห็นตัวเองจากในอดีตที่ยังอ่อนเดียงสาจนเติบโตขึ้นมาและสามารถจัดการกับอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเองได้ ท้ายสุดนี้อยากฝากเพื่อนๆไว้ว่าอย่ากลัวที่จะต้องเริ่มต้นทำอะไร แม้จะผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ในภายภาคหน้าคุณก็จะได้รู้ว่าอะไรควรทำและหรืออะไรที่ไม่ควรทำ ^___^
รบกวนขอคำปรึกษาหน่อยค่ะ ตอนนี้ลูกสาวเดินทางไปอยู่อเมริการัฐไอโอว่า Eagle Grove ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน น้องไปเรียนเกรด12ที่นั่นเพียง 1ปีการศึกษา คุณแม่ทำบัตรเดบิตVISAของธนาคารกรุงเทพและกสิกรให้น้องไป แต่ไม่สามารถใช้ได้เลยค่ะ ตอนนี้น้องมีเงินสดเหลือนิดหน่อยค่ะ คุณแม่จะให้น้องไปเปิดบัญชี checking account ได้มั๊ยคะ ตอนนี้น้องอายุ 17ปี 2เดือนค่ะ รบกวนด้วยนะคะเดือดร้อนมากค่ะ หรือ..ถ้าอยู่เมืองไทยให้คุณโอ๋โทรกลับได้ที่ไหนคะ?
คุณแม่สามารถบอกให้น้องเปิด checking account ที่อเมริกาได้เลยค่ะ ง่ายมาก บางธนาคารจะแถมเงินหรือ gift card ให้เราอีกต่างหาก หลักฐานที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะขอ
1. passport
2. VISA เข้าอเมริกา กรณีที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนก็คือ VISA J1 นั่นเองค่ะ ซึ่งตัวนี้จะติดอยู่กับ Passport อยู่แล้ว
3. ที่อยู่อาศัยในอเมริกา เป็นเอกสารยืนยันที่พักอาศัยที่ดูเชื่อถือได้ เช่น ที่อยู่บนซองเอกสาร หรือ จดหมายแจ้งที่อยู่พักของที่ทางโครงการให้มา เป็นต้น
เมื่อได้เปิดบัญชีแล้ว ธนาคารส่วนมากจะมีกำหนดเงินฝากขั้นต่ำ เช่นที่ Wells Fargo อยู่ที่ $500 หากต่่ำกว่านั้น เค้าก็เก็บค่าธรรมเนียมเราค่ะ หรือ มีอีกทางหนึ่งคือ ต้องรูดใช้บัตร 10 transections ขึ้นไป เราถึงไม่ต้องจ่างค่าธรรมเนียมค่ะ
ช่องทางการส่งเงินหาน้อง มีหลายแบบ ลองดูไอเดียตาม link นี้ค่ะ บทความนี้เกี่ยวกับส่งเงินจากอเมริกากลับไทย ซึ่งจริงๆแล้วส่งจากไทยไปอเมริกาก็ใช่หลักการเดียวกันได้ค่ะ
ขอให้ทุกอย่างราบรื่นนะคะ
หวัดดีคะ
คืออัญต้องการสอบถามจากพี่ที่มีประสบการณ์ในการไปโครงการ Aupair คะ ตอนนี้อัญอยุาในช่วงการเตรียมตัวก่อนไปคะ อัญอยากสอบถามว่า ถ้าอัญเปิดทั้งบัญชี checking & saving account และทำบัตร debit เฉพาะ checking account จะดีไหมคะ เพื่อเป็นการใช้จ่ายส่วนตัว แต่สำหรับ saving account ไว้ออมเงินค่าจ้างคะ? และขอถามเพิ่มเติมคะ เรื่องการโอนเงินกลับประเทศไทยโดยไม่เสียค่าทำเนียมมาก ต้องทำอย่างไรคะ อัญอยากโอนกลับมาให้ที่บ้านเรื่อยๆ คะ
รบกวนด้วยคะ
ขอบคุณคะ
สวัสดีค่ะคุณอัญ เปิดทั้งบัญชี checking & saving account และทำบัตร debit สำหรับ Checking เป็นเรื่องดีค่ะ ตรงตามจุดประสงค์ของน้องที่บอกไว้ ส่วนการโอนเงิน สามารถอ่านดูช่องทางต่างๆไว้ตามบทความนี้เลยค่ะ
http://gogoamerica.com/การโอนเงินจากอเมริกามาไทย/
ขอให้เดินทางปลอดภัย และโชคดีในอเมริกานะคะ
พี่ค่ะถ้าหนูลืมปิดเครดิตที่นู่นละหนูกลับไทยแล้วจะต้องทำยังไงบ้างอ่ะค่ะ บัตรก็หาย ต้องโดนค่าปรับเยอะแน่ๆเลย:(
สวัสดีค่ะ
ถ้าต้องการจะเปิด checking account ของ capital one เวลาคุณพ่อโอนเงินมาให้จากประเทศไทยด้วยธนาคารกรุงเทพ จะมีค่าธรรมเนียมสูงรึป่าวคะ คือตอนนี้สนใจธนาคารนี้แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาเวล่โอนเงินจากประเทศไทยหรือไม่ และค่าธรรมเนียมต้องขึ้นอยู่กับธนาคารกรุงเทพป่ะคะ ขอบคุณค่ะ
รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ ถ้าเราไม่ได้อยู่ที่นั่นถาวรแต่กำลังจะไปดูลู่ทางทำธุรกิจก็เดินทางไปๆมาสามารถเปิดบัญชีได้ไหมคะ เพราะเห็นคนที่นั่นใช้เดบิตการ์ดสะดวกมากค่ะ ไม่ต้องมีเศษสตางค์เต็มไปหมดค่ะ และธนาคารไหนสะดวกสุดคะ ขอบคุณมากค่ะ
รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ ถ้าเราจะยื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงบัญชีของบุคคลอื่นๆ เช่น แฟน การทำข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบออนไลเสียค่าใช้จ่ายไหมค่ะ