สัพเพเหระในอเมริกา

เรื่องราวของ ‘เหรียญ’ ในอเมริกา

เรื่องราวของ 'เหรียญ' ในอเมริกา

เรื่องราวของ ‘เหรียญ’ ในอเมริกา

ตอนเรามาอยู่ที่อเมริกาใหม่ๆ ช่างสับสนกับการใช้เหรียญมากๆค่ะ เลยไม่ค่อยกล้าใช้ เวลาซื้อของอะไรที ก็ใช้แต่แบงค์แล้วให้เค้าทอนตลอด จนกระเป๋าตุงหนักอึ้งไปด้วยเหรียญค่ะ 55 ตอนแรกนึกว่าเราเป็นอยู่คนเดียว อ่าว! เห็นเพื่อนเราก็มีเหรียญไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ก็มันค่อนข้างงงค่ะ เหรียญเล็กบางทีมีค่ามากกว่าเหรียญใหญ่ แถมขนาดก็ใกล้เคียงกันมาก  นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาอเมริกาก็มักมีปัญหาในเรื่องนี้ค่ะ เห็นได้จากเวลาจ่ายเงิน (ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ค) มักจะเห็นเขาล้วงเอาเศษเหรียญขึ้นมากำใหญ่แล้วยื่นให้แคชเชียร์เลือกเอาเองว่าต้องเอาเหรียญไหนบ้าง วันนี้ เราเลยขอแนะนำเรื่องเหรียญต่างๆที่ใช้ในอเมริกาค่ะ

เหรียญ 1 เซนต์ หรือ 1 เพนนี (Penny): มูลค่า0.01 ดอลล่าห์ U.S.

เริ่มจาก  เหรียญที่มีมูลค่าน้อยที่สุด นั่นคือเหรียญ 1 เซนต์ หรือจะเรียกว่า “เพนนี” ก็ได้ ด้านหนึ่งเป็นรูปประธานาธิปดีคนสำคัญของอเมริกา อับบาฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln)  เป็นผู้ยกเลิกระบบทาสในอเมริกา และเป็นต้นแบบระบบเลิกทาสทั่วโลกค่ะ ส่วนอีกด้านจะมี 5 แบบแตกต่างกันไป ตามรูปค่ะ แต่รู้สึกที่เห็นบ่อยสุด คงเป็นอันกลางที่เป็นรูปโล่ค่ะ

 

เหรียญ 5 เซนต์ หรือ นิกเกิล (Nickel) : มูลค่า 0.05 ดอลล่าห์ U.S.

เหรียญ 5 เซนต์นี้ เป็นรูปหน้าของ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองในการควบคุมรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งสำคัญที่น่าจดจำต่อการเป็นประธานาธิบดีของเจฟเฟอร์สัน ก็คือ การที่เขาซื้อเขตแดนหลุยเซียน่าจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1803 ทำให้อเมริกามีขนาดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว!  อีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ชื่อว่า “Monticello” เป็นบ้านหลังใหญ่ที่ เจฟเฟอร์สัน ออกแบบและสร้างสำหรับเป็นบ้านของเขาเองค่ะ

 

เหรียญ 10 เซนต์ หรือ ไดม์ (Dime) : มูลค่า 0.10 ดอลล่าห์ U.S.

ด้านหนึ่งของเหรียญ 10 เซนต์นี้ เป็นรูปของ แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด (พ.ศ. 2476-2488) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำของประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และแนวคิดของเขายังก่อให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศ คือ สหประชาชาติ ณ อีกด้านของเหรียญ เป็นรูป กิ่งไม้มะกอก, คบเพลิง, และไม้โอ๊ค ซึ่งหมายถึง สันติภาพ, เสรีภาพ, และชัยชนะ สัญลักษณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศในตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองค่ะ

 

เหรียญ 25 เซนต์ หรือ ควอเตอร์ (Quarter) : มูลค่า 0.25 ดอลล่าห์ U.S.

รูปด้านหนึ่งของเหรียญ ควอเตอร์นี้ เป็นรูปของ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)ประธานาธิปดีคนแรกของอเมริกานั่นเอง  เขาเป็นผู้นำการสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีการคลังที่ดี ซึ่งวางตนเป็นกลางในสงครามที่ปะทุขึ้นในยุโรป ปราบปรามกบฏและได้รับการยอมรับจากชนอเมริกันทุกประเภท จนสามารถรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ค่ะ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปนกอินทรี สัญลักษณ์ของความมั่นคงและเสรีภาพ นอกจากรูปนกอินทรีแล้ว ยังมีแบบต่างอีกมากกว่า 50 เหรียญ ตามสัญลักษณ์ของรัฐนั้นๆ เช่น นิวยอร์คก็จะเป็นรูปเทพีเสรีภาพค่ะ

(ดูได้ในรูปข้างล่าง) เหรียญที่มีรูปรัฐต่างๆนั้น ออกมาในปี 1999 -2008 โดยออกมาปีละ 5 รัฐค่ะ มีเพื่อนเราหลายคนชอบเก็บสะสมให้ครบทุกรัฐ เค้าจะมีขายแฟ้มเฉพาะ คอลเลคชั่น นี้เลยทีเดียวค่ะ หลังจากนั้น ปี 2009-2010 ก็มีคอลเลคชั่นอื่นออกมาอีก คือ State Park Series และ Commonwealth Series ค่ะ

 

เหรียญ 1 ดอลลาร์ : มูลค่า 1 ดอลล่าห์ U.S.


 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญ 1 ดอลลาร์ แต่ไม่ค่อยได้ใช้แพร่หลายในตลาดหรอกนะคะ นานๆถึงจะเห็นที ส่วนใหญ่จะได้มาจากเครื่องซื้อตั๋วรถไฟฟ้าใต้ดินค่า  มีหลายรูปแบบตามภาพแบบแรกเป็น Native American series

แบบที่สอง คือ Presidential Dollar Coin หน้าของ จอร์จ วอชิงตัน นั่นเอง

แบบที่สาม เป็นเหรียญเงิน รูปของ Susan B. Anthony dollar เธอเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในศตวรรษที่ 19 ค่ะ

 

ขนาดของเหรียญ

เส้นผ่านศูนย์กลาง

– เหรียญเพนนี 19.05 มิลลิเมตร (ขวาล่าง)

– เหรียญนิกเกิล 21.21 มิลลิเมตร (ซ้ายบน)

– เหรียญไดม์ 17.91 มิลลิเมตร (ขวาบน)

 

– เหรียญควอเตอร์ 24.26 มิลลิเมตร (ซ้ายล่าง)

เหรียญ dime เป็นเหรียญที่มีขนาดเล็กและบางที่สุดค่ะ

 เหรียญควอเตอร์ที่มีสัญลักษณ์ประจำรัฐ

1999 Delaware, Pennsylvania, New Jersey, Georgia, Connecticut
2000 Massachusetts, Maryland, South Carolina, New Hampshire, Virginia
2001 New York, North Carolina, Rhode Island, Vermont, Kentucky
2002 Tennessee, Ohio, Louisiana, Indiana, Mississippi
2003 Illinois, Alabama, Maine, Missouri, Arkansas
2004 Michigan, Florida, Texas, Iowa, Wisconsin
2005 California, Minnesota, Oregon, Kansas, West Virginia
2006 Nevada, Nebraska, Colorado, North Dakota, South Dakota
2007  Montana, Washington, Idaho, Wyoming, Utah
2008  Oklahoma, New Mexico, Arizona, Alaska
2009 Commonwealth Series
2010 State Park Series
   Cr picture: http://coinauctionshelp.com/Washington_Quarter.html

เป็นอย่างไรบ้างค่ะเรื่องราวเกี่ยวกับเหรียญในอเมริกา เรื่องเงินๆทองๆในอเมริกายังไม่จบเพียงเท่านี้นะคะ ยังมีเรื่องของแบงค์ต่างๆในอเมริกามาแนะนำกันอีกคราวหน้าค่ะ

transferwise

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *