Overdraft fee
การมาอยู่ต่างประเทศไม่ว่าที่ไหนสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังให้มาก ๆ หน่อยก็ต้องเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ค่ะ เพราะนอกจากที่เราต้องระวังเพราะค่าเงินสกุลไทยบาทของเรามันต่ำกว่าที่อื่นทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในต่างประเทศ นอกจากนี้การจัดโอนเงินจากประเทศไทยเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวในต่างประเทศก็ยังมีค่าธรรมเนียมและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เราจะต้องปฏิบัติอีกด้วยค่ะ
อย่างการถือเงินสดเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีจำนวนที่ทางกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาจะสามารถถือเงินสดหรือสินค้าที่มีมูลค่าได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นเหรียญ แต่ถ้าใครต้องการใช้เงินในจำนวนมากกว่านั้นก็ต้องโอนผ่านสถาบันการเงินหรือธนาคารค่ะ
จำนวนสูงสุดที่สามารถโอนผ่านธนาคารได้ก็ไม่เกินห้าหมื่นเหรียญค่ะ หากเกินก็ต้องมีการทำเรื่องอธิบายให้ทางการสหรัฐฯ เขาทราบว่าจะต้องโอนเงินมาค่าอะไร ในการโอนเงินก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมค่ะ ซึ่งประกอบด้วยค่าธรรมเนียมต้นทางที่ธนาคารพาณิชย์ที่เราใช้บริการในประเทศไทยเรียบเก็บ ซึ่งบางธนาคารก็เรียกเก็บเป็นแบบ Flat Rate เท่ากันหมดไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตาม
บางธนาคารก็อาจเรียกเก็บเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์จากจำนวนเงินที่ต้องการโอน ทั้งนี้แตกต่างกันไปตามระเบียบการของแต่ละธนาคารค่ะ ส่วนเมื่อโอนมาที่ธนาคารในสหรัฐอเมริกาก็อาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีกรอบหนึ่ง และก็อีกนั่นแหละค่ะที่จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของธนาคารนั้น ๆ ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่และเท่าไร
เมื่อได้เงินมาจากทางบ้านแล้วก็ต้องเปิดบัญชีที่นี่เพื่อความสะดวกใช่ไหมค่ะ บางคนก็มีทั้งบัญชีสะสมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวันแล้วแต่ความสะดวกและความชอบส่วนตัว แต่ที่ต้องระวังก็คือการคอบตรวจเช็คจำนวนเงินอยู่เสมอว่ามีเงินพอหรือไม่สำหรับทั้งผู้ที่ใช้เช็คส่วนตัวและผู้ที่ใช้บัตรเดบิตค่ะ เพราะว่าเวลาที่เราจ่ายเช็คที่มีเงินในบัญชีไม่พอ ทางธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ $35 ต่อรายการ และเขาจะไม่มีการแจ้งเตือนว่าเรามีเงินในบัญชีพอหรือไม่ตรงข้ามจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปเรื่อย ๆ บางคนกว่าจะรู้ตัวก็ติดหนี้ธนาคารไปหลายร้อยหรือหลายพันเหรียญเลยล่ะค่ะ
แล้วถ้าใครใช้บัตรเดบิตก็ไม่ต่างกันค่ะเพราะบัตรเดบิตที่นี่เขามีคุณสมบัติของบัตรเครดิตอยู่ในตัวด้วย ทางธนาคารเขาอ้างว่าต้องการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในกรณีที่ไม่มีเงินในบัญชีแต่มีความเร่งด่วนที่ต้องการใช้เงิน ทางธนาคารก็จะทดลองจ่ายล่วงหน้าให้ก่อนแล้วเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับที่มีเงินไม่พอ (Non-Sufficient Fund: NSF) กันทีหลังค่ะ
ที่แย่ที่สุดคืออย่างนี้ค่ะ เขาจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามรายการที่เกิดขึ้นค่ะ สมมติว่า เรามีเงินเหลือในบัญชีแค่ $100 คราวนี้เราจ่ายเช็คไป $101 แล้ววันเดียวกันเราจ่ายเช็คอีกใบไปเป็นเงิน $5 ทางธนาคารจะปรับเราเป็นเงิน $70 สำหรับเช็คสองใบค่ะ เพราะเขาถือว่าใบแรกที่จ่ายไป $101 มีเงินไม่พอแล้วดังนั้นใบที่สองจำนวน $5 ก็จะถูกปรับด้วย เท่านั้นยังไม่พอถ้าเราเปิดบัญชีที่บังคับจำนวนเงินคงเหลือไว้ด้วยเราก็จะถูกปรับเป็นต่อที่สามค่ะ
สมมติจากกรณีที่ยกตัวอย่างมานี้ หากเราเปิดบัญชีที่บังคับว่าต้องมีเงินคงเหลือขั้นต่ำวันละ $100 ไม่อย่างนั้นจะปรับเป็นเงิน $10 กรณีนี้เขาจะหักค่าธรรมเนียม/ค่าปรับ $70 ออกไปก่อนทำให้เรามีเงินเหลือแค่ $30 จากนั้นก็หักอีก $10 เพราะมีเงินเหลือต่ำกว่าที่กำหนด สรุปแล้วเราจะมีเงินเหลือในบัญชี $20 กับเป็นหนี้ธนาคารอีก $106 จากเช็คสองใบที่จ่ายไป
เพราะฉะนั้นต้องระวังคอยตรวจเช็คเงินยอดคงเหลือให้ดี เพราะหากเกิดขึ้นนอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังต้องเสียหัวหงุดหงิดไปอีกหลายวันทีเดียวล่ะค่ะ
โดย
ษุภากร แบ๊คลี่ย์