สัพเพเหระในอเมริกา

Culture Shock เมื่อกลับเมืองไทย !!

จำได้ว่าเคยเขียนเกี่ยวกับ Culture Shock สำหรับคนที่เพิ่งมาอยู่อเมริกาใหม่ ๆ ว่าตอนแรกจะรู้สึกตื่นเต้น และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะก็จะเกิดอาการคิดถึงบ้านเพราะอะไร ๆ ก็ไม่เหมือนบ้านเรา แต่ไอ้อาการ Culture Shock นี่มันไม่ได้เกิดกับคนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ในประเทศใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันยังสามารถเกิดกับคนที่อยู่ที่อื่นนาน ๆ แล้วกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหมือนกัน และอาการนี้ก็จะเกิดแตกต่างกันออกไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่การปรับตัวของแต่ละคนบวกกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ Culture Shock เสริมด้วยค่ะ

ส่วนตัวเองนี่ก็เพิ่งเกิดอาการ Culture Shock เมื่อตอนที่กลับไปเมืองไทยครั้งล่าสุดเหมือนกัน วันนี้ก็จะมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ได้เข้าใจว่า Culture Shock สามารถเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างไรค่ะ

                ก่อนอื่นคงต้องเท้าความกันสักเล็กน้อยก่อนนะคะว่าส่วนตัวแล้วไม่ได้กลับไปเยี่ยมเมืองไทยมาหลายปีดีดัก ไม่ใช่เพราะไม่อยากกลับแต่เพราะความจำเป็นทั้งทางครอบครัว เศรษฐกิจและการเมือง เอ็ย! ไม่ใช่ค่ะ เพราะความจำเป็นในเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ที่ติดขัดทำให้กลับไปเยี่ยมบ้านไม่ได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ และก็คุยกับคนที่บ้านมาโดยตลอดไม่ได้ขาด พอมาถึงเมื่อเดือนที่แล้วที่ต้องกลับไปทำธุระที่เมืองไทยและไปคนเดียว บวกกับการไม่ต้องการรบกวนพี่น้องคนอื่น ก็เลยฉายเดี่ยววางแผนการเดินทาง การออกไปทำธุระและอะไร ๆ คนเดียวทั้งหมด มาถึงตอนนี้ก็เลยเริ่มรู้สึกแปลก ๆ ประหม่า ๆ อย่างไรชอบกล คิดไปคิดมาก็ทำให้คิดถึงทฤษฎีที่เรียนมาว่า Culture Shock สามารถเกิดขึ้นกับคนที่เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดได้เช่นเดียวกัน และความรู้สึกที่เพิ่งบอกไปนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Culture Shock เมื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอนค่ะ

                อีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของ Culture Shock ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองก็คือ การไม่ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน แล้วก็ได้มาเจอการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันด้วยตัวเองค่ะ ตัวอย่างที่เจอมากับตัวเองก็คือไม่รู้จักเหรียญสองบาทค่ะ

เรื่องก็มีอยู่ว่าอยากจะไปเที่ยวเกาะเกร็ดซึ่งตัวเองก็ยังไม่เคยไปมาก่อน เราก็ต้องถามทางไปตลอดจนกระทั่งสามารถลงเรือข้ามฝั่งไปถึงเกาะเกร็ดแล้ว คราวนี้ก็มาถึงตอนจะจ่ายเงินล่ะค่ะ ค่าเรือโดยสารมันสองบาท เราก็เอาเหรียญห้าบาทยื่นให้ พอคนเก็บเงินที่ท่าทอนเงินให้โดยเอาเหรียญสองบาทสีทองกับเหรียญบาททอนให้เรา พอเรารับมาก็งง จ้องดูที่เหรียญมันก็มองไม่เห็นว่าเขียนว่าอะไรเพราะเหรียญมันค่อนข้างเก่าบวกกับสายตาที่แย่ลงไปตามวัย ยืนงงหันรีหันขวางสักพัก

พอเห็นคนเก็บเงินที่ท่าว่างแล้วเราก็เดินกลับไปถามเขาว่า “ขอโทษนะคะ เวลาจะกลับก็ให้เอาเหรียญทองนี่คืนไปก่อนขึ้นเรือใช่ไม๊คะ” ที่ถามไปอย่างนั้นก็เพราะหนึ่งไม่รู้จักเหรียญสองบาทค่ะ และสองก็คือประสบการณ์การขึ้นเรือบางแห่งในต่างประเทศเขาต้องการเก็บเงินล่วงหน้าสำหรับขากลับ บางที่ก็เอาตั๋วกลับให้เรา บางที่ก็เอาเหรียญ Token ให้เราไว้ส่งคืนให้เจ้าหน้าที่หรือหยดตู้เพื่อขึ้นเรือกลับค่ะ และพอถามไปอย่างนั้นแล้วคนเก็บเงินเขาก็อธิบายให้เราฟังว่ามันเป็นเหรียญสองบาทที่ออกมาใหม่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เลยมาถึงบางอ้อค่ะ

                ที่เล่ามาให้ฟังนี่ก็อยากจะแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวและสนับสนุนทฤษฎี Culture Shock ในผู้ที่เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองว่ามันเกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่รุนแรงเท่ากับของคนที่เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน อีกทั้งการปรับตัวให้พ้นจากอาการ Culture Shock ในบ้านเกิดก็ง่ายกว่ามากเพราะเราสามารถพูดจาสื่อสารได้อยู่แล้ว แถมยังสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย ๆ หรือในบางคนอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้เพราะส่วนใหญ่จะมีญาติพี่น้องหรือไม่ก็เพื่อนฝูงมารับหรือพาไปไหนมาไหนด้วยอยู่แล้วค่ะ

โดย ษุภากร แบ๊คลี่ย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *