ค้นหาสไตล์การเรียนด้วย Learning Style ตอนที่ 2
ในบทความ “Learning Style นั้นสำคัญไฉน ตอนที่ 1” ได้อธิบายเกี่ยวกับ Learning Style ในแบบฉบับหนึ่งให้น้องๆได้ลองไปศึกษาดูว่าตัวเองมีลักษณะหรือชอบการเรียนการอ่านในลักษณะไหน เพื่อที่จะได้เอาไปปรับให้เข้ากับตัวเองเวลาอ่านทบทวนตำรับตำรากัน แต่มันก็ใช่ว่าจะทำปุ๊บแล้วได้ผลเลยทันตาเห็น อย่างนั้นมันก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ค่ะ
สมมติว่าน้องๆคนไหนจัดกลุ่ม Learning Style อยู่ใน Aural Learners ที่ชอบใช้ประสาทสัมผัสทางการได้ยินเสียง เขาแนะนำว่าลองเปิดเพลงเบาๆในเวลาอ่านหนังสือจะช่วยได้ เปิดเท่าไรมันก็ไม่ช่วยให้เข้าใจทฤษฎีต่างๆสักที นั่นก็เพราะว่ามันจะต้องมีทักษะอย่างอื่นเข้าไปเสริมด้วยค่ะ วันนี้ก็เลยจะเอาประสบการณ์ตรงประสบการณ์จริงส่วนตัวมาเล่าให้ฟัง เผื่อมันจะเป็นแนวทางให้น้องๆได้เอาไปใช้บ้างนะคะ
ก่อนอื่นต้องบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งอะไรมาแต่กำเนิดหรอกนะคะ แถมขี้เกียจอยู่มากด้วย แต่พอมาอยู่ที่นี่ทุกอย่างมันต้องช่วยเหลือตัวเองมากๆ อีกทั้งเมื่อคิดถึงเงินทองที่ทางบ้านต้องส่งเสียให้ร่ำเรียนก็ตั้งมากมาย เราก็ต้องตั้งใจเรียนให้ดีให้สำเร็จ ดังนั้นความเป็นผู้ใหญ่และความรับผิดชอบก็บังเกิดค่ะ
โชคดีที่ว่าเมื่อตอนเริ่มเข้าเรียนปริญญาโท มันมีวิชาหนึ่งชื่อว่า Statistic Method of Thinking ซึ่งนอกจากจะสอนเกี่ยวกับวิชาสถิติแล้ว มันยังเป็นวิชาที่ใช้ปูพื้นของการคิดและการตัดสินใจค่ะ แล้วเขาก็มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของวิชานี้ชื่อว่า “Use Both Sides of Your Brain” ซึ่งตรงนี้อยากจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยจุดประกายในการวางเทคนิคการอ่านหนังสือของตัวเองเลยก็ว่าได้ค่ะ
หนังสือ “Use Both Sides of Your Brain” อธิบายเกี่ยวกับการทำหน้าที่ทั้งสองส่วนของสมองของเราส่วนหนึ่งเป็นความสามารถทางด้านรูป อีกส่วนเป็นด้านตัวหนังสือ อะไรประมาณนี้นะคะ อย่างถือสานะคะเพราะมันนานมากแล้วค่ะ มาดูที่ประสบการณ์เลยดีกว่านะคะว่าอ่านแล้วเราได้ข้อคิดและเทคนิคอะไรบ้าง
ตอนนั้นจำได้ว่าพออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ได้เทคนิคการสรุปใจความสำคัญในการอ่านค่ะ คือเวลาอ่านหนังสือแล้วจะมานั่งเขียนสรุปเองอีกทีหนึ่งค่ะ โดยเวลาเขียนนี้ก็จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษแต่ไม่ลอกตามในหนังสือทุกคำ จะสรุปด้วยคำพูดของตัวเองให้เป็นภาษาที่ง่ายๆและตัวเองเข้าใจค่ะ
เวลาเขียนในกระดาษโน้ตหรือในสมุดก็จะมีการใช้ปากกาสีต่างๆกัน หัวข้อใช้สีดำ คำอธิบายใช้สีแดง ตัวอย่างใช้สีเขียวอะไรก็ว่ากันไปค่ะ พูดง่ายๆก็คือเรามีจัดแบ่งและเรียบเรียงความรู้จากเรื่องที่เราอ่านมาใหม่ ซึ่งพอเราเขียนโน้ตเสร็จแล้วเราก็จำได้มากกว่า 70% พอมาทบทวนอีกทีมันก็จะเร็วขึ้นและง่ายขึ้นมากทีเดียวค่ะ ตรงนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Organizing Information ค่ะ
แล้วถ้าหัวข้อหรือทฤษฎีไหนที่อธิบายถึงลำดับขั้นตอนต่างๆ ความสัมพันธ์ หรือ เหตุและผล เราก็เขียนแค่คำที่สำคัญแล้วใช้ลูกศรบอกทิศทางว่าอะไรเริ่มก่อน เช่น เหตุ è ผล ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นการใช้ลูกศรเพื่อบอกจุดเริ่มต้นและสิ่งที่ตามมา แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ย้อนกลับไปกลับมาได้เราก็ใช้ลูกศรสองทาง เช่น ไก่ ó ไข่ นี่ก็เป็นการบอกว่าไก่สามารถทำให้เกิดไข่ และไข่เองก็สามารถสร้างไก่ได้
แทนที่เราจะใช้คำพูดอธิบายยืดยาวเราก็เอารูปมาช่วย การใช้ลูกศร หรือ Flow Chart มันช่วยให้เราเห็นความสำพันธ์ของเนื้อหาได้ชัดเจนขึ้นและทำให้เราสามารถจำเนื้อหานั้นๆได้ดีและง่ายขึ้นเหมือนการใช้รูป ซึ่งเป็นการใช้สมองข้างที่ทำงานเกี่ยวกับภาพและศิลปะต่างๆค่ะ
เทคนิคอีกอย่างที่จะเอามาฝากก็คือ การชี้มือตามในเวลาอ่าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอ่านออกเสียงนะคะ แต่การชี้มือตามเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่เราใช้บอกให้สมองของเราให้ความสนใจในจุดที่เรากำลังชี้อยู่ ซึ่งมันเป็นการช่วยกำหนดสมาธิง่ายๆอย่างหนึ่งค่ะ
เท่านั้นยังไม่พอการชี้มือตามเวลาอ่านหนังสือยังช่วยให้สามารถอ่านได้เร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ บางคนอาจจะชี้ไปด้วยแล้วใช้ Highlighter หรือปากกาขีดเส้นใต้ไปด้วยก็มีค่ะ แต่อยากจะแนะนำว่าถ้าใช้ปากกาขีดเส้นใต้ไปแล้ว หากมาอ่านในรอบที่สองควรใช้ปากกาอีกสีหนึ่งขีดซ้ำเฉพาะคำสำคัญนะคะ มันจะช่วยย้ำใจความนั้นในสมองและความเข้าใจของเราค่ะ
อ่านๆไปแล้วอาจจะงงบ้าง แต่ต้องลองทำดูนะคะแล้วถึงจะเห็นผลค่ะ สรุปวิธีง่ายๆก็เริ่มจากอ่านหนังสือโดยใช้นิ้วหรือปากกาชี้ลงบนจุดที่เรากำลังอ่านอยู่แล้วเลื่อนนิ้วตามสายตาไป เวลาเห็นจุดสำคัญหรือใจความสำคัญก็ใช้ปากกา Highlighter ขีดเส้นไว้เพื่อเน้นความสำคัญในส่วนนั้น และหากอ่านซ้ำเป็นครั้งที่สองควรใช้ปากกาสีอื่นในการขีดเส้น โดยที่จะขีดเส้นเฉพาะในส่วนที่สำคัญที่สุดเท่านั้น
จากนั้นก็เขียนโน้ตสรุปเรื่องที่อ่านลงในกระดาษหรือสมุดจดให้เป็นระเบียบด้วยภาษาง่ายๆของตัวเอง ห้ามคัดลอกจากหนังสือยกเว้นคำที่บอกชื่อเฉพาะเกี่ยวกับเนื้อหา อย่างเช่น ชื่อทฤษฎี เป็นต้น
เวลาเขียนโน้ต ลองใช้ปากกาหลายๆสี เพื่อเป็นการจัดกลุ่มเนื้อหาและความสำคัญ นอกจากนี้ก็ใช้ ลูกศร แผนผัง เพื่อบอกความสัมพันธ์แทนการเขียนอธิบายด้วยคำพูด ลองเอาไปใช้ดูนะคะ เพราะตัวเองใช้มาจนถึงทุกวันนี้ได้ผลตลอดค่ะ
โดย ษุภากร, Intercultural Consulting and Services LLC
GoGoAmerica.com เว็บรวมหลากหลายเรื่องราวน่ารู้ใน อเมริกา ทั้ง วัฒนธรรม อาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ การหางานในอเมริกา สถานที่เที่ยว สำหรับคนไทยที่มีเป้าหมายในอเมริกาไม่ควรพลาด