สัพเพเหระในอเมริกา

อยู่อย่างโชคดีและมีความสุขในอเมริกา ตอนที่ 2- เตือนตัวเอง

อยู่อย่างโชคดีและมีความสุขในอเมริกา ตอนที่ 2ด้มาใช้ชีวิตอยู่ในต่างถิ่นต่างแดนอย่างอเมริกา ห่างไกลแสนไกลจากความช่วยเหลือของพ่อแม่ เพื่อนฝูง หรือญาติมิตรทั้งหลายอย่างนี้ ก็เลยมีเรื่องราวต่างๆประดังประเดเข้ามาให้ได้เรียนรู้ ได้ตัดสินใจเพียบเลยค่ะ ผิดบ้างถูกบ้าง มันก็กลายเป็นประสบการณ์ สะสมมาเรื่อยๆจนถึง ณ ตอนนี้

จากการที่อยู่อาศัยในอเมริกามานานหลายปี ทำให้รู้ว่ามีนิสัยอย่างหนึ่งที่พูดไปก็แซ๊นจะธรรมดา แต่จริงๆแล้วสำคัญมาก ควรทำเป็นประจำ ทำแล้วจะส่งผลให้เรา อยู่อย่างโชคดีและมีความสุขในอเมริกา ค่ะ นั่นก็คือ การตักเตือนตัวเองบ่อยๆ

ตัวผู้เขียนเอง จริงๆก็ไม่ได้มีนิสัยการสิ่งสอนตัวเองอย่างนี้มาตั้งแต่กำเนิด แต่จะเป็นเพราะอะไรมาดลบันดาลก็ไม่ทราบ เราได้บทเรียนนี้มาจากการที่ เมื่อเวลาเราคิดอะไรเอาไว้ ต่อมาก็พบว่ามันผิดไปซะหมด ไม่ใช่เป็นแค่ครั้งสองครั้ง  แต่เกือบจะทุกครั้งที่คิดเลยทีเดียว 55 ก็แปลกใจตัวเองว่าเป็นอะไรไปนี่

ตอนคิดเวลาขับรถจะเห็นได้ชัดเจนและบ่อยมาก อย่างเวลารถคันหน้าขับซะช้าเชียว เราก็คิดว่าคนขับคงมือใหม่ซะละมั้ง แต่ปรากฏว่าอ้าว มีรถตำรวจขับอยู่ข้างหน้านี่นา (คือปรกติแล้ว รถที่นี่จะขับเกินลิมิตประมาณ 5-10 m/hr ยกเว้นตอนเห็นรถตำรวจ จะขับช้าลงเป็นพิเศษ และตำรวจที่นี่ก็ทำหน้าที่ดีมากค่า โชคดีที่ตอนนั้นเราขับไม่เกิน)  หรือตอนที่เราขอทางเพื่อเปลี่ยนเลนแล้วเค้าไม่ให้ ก็เคยคิดว่า แหม ใจร้ายจังอะ แต่ต่อมาพอดูลักษณะการขับแล้ว ก็เห็นว่าเค้าขับตามคันหน้าอยู่นี่นา ถ้าเค้าให้เราไปแทรกตรงกลาง เขาก็อาจพลัดหลงกับคันข้างหน้าก็ได้

เมื่อผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็พบว่า โห อะไรกันนี่ พอเราคิดไปเองสองครั้ง ก็มารู้ทีหลังว่ามันผิดทั้งสองครั้ง แล้วอะไรต่างๆมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา มีตั้งกี่อย่างกัน ที่เราคิดไปเองแล้วไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามันไม่ใช่…

ความคิดของเรา ก็จะกลายมาเป็นการกระทำของเรา เมื่อเราคิดสรุปอะไรไปเอง เราก็จะทำผิดพลาดได้ง่ายมาก ลองนึกดูนะคะ ถ้าผู้เขียนคิดว่าคันข้างหน้าหนะ มือใหม่แน่นอน ขับช้าอย่างนี้แซงซะดีกว่า เลยเร่งเครื่องขึ้นแซงอย่างเร็ว หากตัดสินใจทำอย่างนั้น ในไม่ช้า ก็จะต้องโดนใบสั่งจากตำรวจเป็นแน่แท้ หรือ หากว่าผู้เขียนใช้ความสามารถพิเศษ แทรกแซงตรงกลางระหว่างรถสองคันได้สำเร็จ รถคันหลังอาจพลัดหลงกับคันหน้าก็เป็นได้ คันที่ถูกแซงอาจจะเป็นลูกสาว ที่กำลังฝึกขับรถตามคุณพ่ออยู่ก็ได้นะคะ เราไม่มีทางรู้เลย

พอผู้เขียนได้เห็นตัวเองอย่างนี้ ก็เลยต้องหาหลักการดู ว่าจะทำอย่างไรให้เราผิดพลาดได้น้อยที่สุด ก็ได้หลัก กาลามสูตร ของพระพุทธเจ้าค่ะ คือเตือนว่า “อย่าเชื่อ” 10 อย่างด้วยกัน ลองค้นหาดูนะคะว่ามีอะไรบ้าง และยังมีแถมอีกข้อหนึ่ง ที่นอกเหนือจากหลักการ “อย่าเชื่อ” แล้ว ก็คือ หากสิ่งนั้นเป็นกุศล และไม่เบียดเบียน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ก็ทำไปเถอะ (ข้อท้ายนี้ได้ฟังจากยูทูปของ อาจารย์ วรภัทร์ ภู่เจริญ ค่ะ)

ความสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลกับอกุศล เป็นสมบัติขั้นพื้นฐานของการเกิดมาเป็นเป็นมนุษย์ ดังนั้น เราทำได้ สบายอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ เวลาที่เกิดความคิดขึ้นมา ถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เอ้า ท่าจะไม่ดีซะแล้ว ก็เตือนตัวเองว่าเราคิดถูกหรือปล่าวนะ

มันเป็นการง่ายมาก ที่เราจะไปตัดสินเรื่องราวต่างๆ ว่ามันดีหรือไม่ดี คนนั้นไม่ดี คนนี้ดี แต่ถ้าลองดูดีๆแล้ว เราจะไม่ได้อะไรจากการตัดสินใจนั้นเลย แถมยังเป็นไปได้มากที่จะผิดซะด้วย ในทางกลับกัน หากเรามองตัวเองเป็นประจำ เอะใจบ้างว่าเราคิดถูก ทำถูกอยู่หรือปล่าวนะ ใช้หลัก “กาลามสูตร” เข้าช่วยด้วย แล้วทำสิ่งที่เป็นกุศลที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น อย่างนี้เราจะพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ตัดสินใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นจะทำให้เราเป็นคนที่โชคดีและมีความสุขค่ะ

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องข้างล่างนี้ค่ะ เรื่องนี้สะท้อนถึงสิ่งที่เล่ามานี้ได้เหมาะเจาะเลยค่ะ (ก็อปมาจากเฟสบุคที่ก็อปเขามาอีกที เลยไม่รู้แหล่งที่มาเลย ต้องขอโทษด้วยค่า)

 

การเดินทางครั้งสุดท้ายของหญิงชรา

มันเป็นเวลาเกือบจะหมดกะรถแท็กซี่ของผมแล้ว แต่ผมก็รับคำสั่งที่ให้ไปรับผู้โดยสารรายหนึ่ง ทั้งๆ ที่ผมก็เหนื่อยล้ามาทั้งวันและใจก็คิดอยากกลับบ้านไปพักผ่อนเหลือเกิน

ผมขับแท็กซี่คู่ใจไปถึงที่อยู่ของผู้โดยสาร ที่โทรเรียกบริการ และบีบแตรรถส่งสัญญาณให้ผู้โดยสารทราบว่าผมมาถึงแล้ว สองสามนาทีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครออกมา ผมไม่รอช้ารีบบีบแตรซ้ำเพื่อเร่งผู้โดยสาร

ผมเกือบจะขับรถหนีไปโดยไม่รับผู้โดยสารที่ชักช้าคนนี้ เพราะไหนๆ นี่ก็เป็นเที่ยวโดยสารสุดท้ายก่อนหมดกะของผม แต่ผมกลับจอดรถ เดินลงไปที่ประตูบ้านและเคาะประตูเรียก “รอสักครู่นะคะ” มันเป็นเสียงสั่นเครือ ของหญิงชราในวัยที่เปราะบาง ผมแอบได้ยินเสียงอะไรบางอย่างถูกลากมากับพื้น

เสียงเงียบไปพักใหญ่ ประตูบานนั้นก็เปิดออก หญิงร่างเล็กวัยกว่า 90 ปียืนอยู่ตรงหน้าผม เธอสวมเสื้อลายพิมพ์สีสดและหมวกทรงกลมเล็กๆ มีผ้าลูกไม้บางๆ กลัดไว้ มองแล้วเหมือนใครสักคนที่เพิ่งหลุดออกมาจากภาพยนตร์ย้อนยุคเมื่อ 5 หรือ 60 ปีก่อน

ข้างตัวเธอมีกระเป๋าเดินทางที่กรุด้วยผ้าไนล่อนใบหนึ่ง อพาร์ตเม้นท์ของเธอดูราวกับไม่มีใครอาศัยอยู่มาเป็นแรมปี เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดถูกคลุมไว้ด้วยผ้าใบ บนฝาผนังบ้านไม่มีนาฬิกาสักเรือน ไม่มีข้าวของหรือเครื่องครัวบนเค้าท์เตอร์ แต่ที่มุมห้องกลับมีกล่องกระดาษหลายใบที่มีภาพถ่ายเก่าและเครื่องแก้วบรรจุอยู่เต็ม

“พ่อหนุ่ม เธอจะช่วยยกกระเป๋าของฉันไปที่รถหน่อยได้ไหม?” หญิงชราถาม ผมยกกระเป๋าของเธอไปแล้วเดินกลับมาช่วยประคองเธอเดินไปขึ้นรถ หญิงชราจับมือของผมและเราทั้งสองก็เดินช้าๆ ไปที่ทางเท้า

เธอเฝ้าแต่กล่าวคำขอบคุณในความกรุณาของผม “มันไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตเลยครับ”
ผมบอกเธอ… “ผมก็แค่ปฏิบัติกับผู้โดยสารของผมเหมือนกับที่ผมอยากจะให้ผู้คนปฏิบัติกับแม่ผมเท่านั้นเองครับ”

“โอ้ เธอช่างเป็นเด็กที่ดีจริงๆ” หญิงชราตอบ พอเราไปถึงที่รถแท็กซี่ เธอก็เอาที่อยู่ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่เธอต้องการไปมาให้ผมและถามผมว่า “เธอจะช่วยขับรถผ่านเข้าไปกลางเมืองสักหน่อยได้ไหมจ๊ะ พ่อหนุ่ม”

“แต่นั่นไม่ใช่ทางที่สั้นที่สุดนะครับ” ผมรีบตอบ

“ไม่เป็นไรหรอก” เธอตอบ “ฉันไม่ได้รีบร้อนอะไร ฉันกำลังจะไปที่ hospice (สถานที่สำหรับดูแลคนคนป่วยซึ่งไม่สามารถรักษาได้แล้ว ในระยะสุดท้ายของชีวิต)

ผมแอบมองหน้าเธอทางกระจกมองหลัง ดวงตาหญิงชราเป็นประกาย “ฉันไม่มีญาติพี่น้องหรือครอบครัวเหลืออยู่แล้ว” เธอพูดต่อด้วยเสียงเบาบาง “หมอบอกว่าฉันคงอยู่ได้อีกไม่นานนัก”

ผมค่อยๆ เอื้อมมือไปปิดมิเตอร์ค่าแท็กซี่ทิ้ง

“คุณอยากให้ผมขับพาคุณไปตามถนนสายไหนหรือครับ” ผมถาม

ระยะเวลาสองชั่วโมงจากนั้น เรานั่งรถผ่านกลางเมือง เธอชี้ให้ผมดูอาคารที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทำงานเป็นคนคุมลิฟต์ เราขับผ่านละแวกบ้านที่เธอและสามีเคยอยู่อาศัยเมื่อทั้งคู่พบรักและแต่งงานกันใหม่ๆ และเธอก็ขอให้ผมจอดรถสักครู่ ที่หน้าโกดังโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานลีลาศที่เธอเคยมาเต้นรำเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็กสาว

บางครั้งเธอก็ขอให้ผมขับชลอรถลงช้าๆ เมื่อผ่านหน้าอาคารหรือมุมถนน และเธอจะนั่งนิ่งๆ มองผ่านหน้าต่างรถออกไปยังความมืดอันว่างเปล่า โดยไม่พูดอะไรเลยสักคำ

เมื่อแสงตะวันอ่อนแรงลงที่ตรงปลายฟ้า เธอก็พูดขึ้นทันทีว่า “ฉันเหนื่อยแล้วหล่ะ เราไปกันเถอะ”

เราขับรถเงียบๆ ไปยังจุดหมายปลายทางที่เธอให้ไว้กับผม มันเป็นอาคารเตี้ยๆ เหมือนศูนย์พักฟื้นทั่วๆ ไป มีช่องทางให้รถผ่านเข้าไปใต้หลังคาอาคารเพื่อส่งผู้โดยสาร

พนักงานบ้านพักคนชราสองคนออกมาต้อนรับเรา พวกเขาดูใส่ใจกับเธอมาก เฝ้าดูหญิงชราในทุกอริยบทอย่างไม่ละสายตา พวกเขาคงรอการมาถึงของเธออยู่ก่อนแล้ว

ผมเปิดท้ายรถและเอากระเป๋าเดินทางของเธอไปที่ประตู หญิงชราได้นั่งอยู่บนเก้าอี้รถเข็นแล้ว “ฉันค้างจ่ายค่ารถเธอเท่าไร” หญิงชราถามพร้อมๆ กับเอื้อมมือเปิดกระเป๋าสตางค์ของเธอ

“ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยครับ” ผมตอบ

“แต่เธอก็ต้องอยู่ต้องกินนะ” หญิงชรากล่าว

“ผมยังมีผู้โดยสารรายอื่นๆ อีกครับ” ผมตอบ

โดยแทบไม่ได้คิดอะไรเลย ผมก้มตัวลงและกอดเธอไว้ในอ้อมแขน หญิงชรากอดผมไว้แน่น “เธอได้มอบเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ให้กับคนแก่คนหนึ่ง”

เธอพูด “ขอบใจมากนะ”

ผมบีบมือเธอแน่นเป็นการร่ำลาและเดินกลับออกไป เสียงประตูถูกปิดลง มันเป็นเสียงปิดลงของชีวิตชีวิตหนึ่ง

ผมไม่ได้รับผู้โดยสารอื่นอีกเลยในกะนั้น ผมขับแท็กซี่ของผมไปอย่างไร้เป้าหมาย หลงล่องลอยอยู่ในความคิดของตัวเอง วันนั้นทั้งวันผมแทบพูดอะไรไม่ถูก

มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหญิงชราคนนั้นต้องพบกับคนขับรถแท็กซี่ขี้โมโห หรือคนขับที่คิดแต่จะส่งรถให้ทันกะ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าผมปฏิเสธที่จะรับงานนั้น เพราะมันเกือบจะหมดกะของผมเหมือนกัน หรือถ้าผมแค่กดแตรเรียกเพียงครั้งเดียว พอไม่มีใครขานตอบผมก็ขับหนีออกไปทันที

ผมทบทวนเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมา ผมคิดไม่ออกว่าผมเคยได้ทำอะไรที่สำคัญกว่านี้มาบ้างหรือเปล่าในชีวิต

เราถูกทำให้เชื่อว่าชีวิตของเราได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์สำคัญที่ยิ่งใหญ่

แต่บ่อยครั้งเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่ว่านั้น มันกลับมาปรากฏต่อหน้าเราอย่างที่เราไม่ทันตั้งตัว

และมาปรากฎตัวในรูปที่ถูกห่อไว้อย่างหมดจดงดงามโดยที่คนอื่นๆ อาจไม่คิดว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย

transferwise

 

GoGoAmerica.com เว็บรวมหลากหลายเรื่องราวน่ารู้ใน อเมริกา ทั้ง วัฒนธรรม อาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ การหางานในอเมริกา สถานที่เที่ยว สำหรับคนไทยที่มีเป้าหมายในอเมริกาไม่ควรพลาด

2 thoughts on “อยู่อย่างโชคดีและมีความสุขในอเมริกา ตอนที่ 2- เตือนตัวเอง

  • Wonderful story, I almost cry a honey. T T

    Reply
  • ขอบคุณสำหรับเรื่อราวดีๆ ค่ะ ^__________*

    Reply

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *