คนดังในอเมริกา

แม่ทัพแห่ง YouTube ซีอีโอต้นแบบเพื่อคน Gen Z

เว็บไซต์ YouTube กลายเป็นเว็บที่เราต้องเข้าเป็นประจำทุกวัน ดีไม่ดีก็เปิดใช้งานตลอดทั้งวันอีกต่างหาก เพราะในยูทูบมีอะไรให้ค้นหามากกว่าแค่ละครย้อนหลัง เป็นมากกว่าคลังเพลง และยังเป็นเหมือนคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่มีทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว ทำให้เราเข้าใจได้ในทันทีมากกว่าแค่การอ่านจากตัวอักษร ถือว่ายูทูบมีข้อได้เปรียบมากกว่ากูเกิลก็ตรงนี้

ยูทูบถูกเทคโอเวอร์โดยกูเกิลเมื่อปี 2006 ในขณะนั้น ซูซาน วอซซิซกิ (Susan Wojcicki) ยังเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารกูเกิลอยู่ เธอมองว่ายูทูบสามารถแตกย่อยเป็นอีกหนึ่งธุรกิจได้ ด้วยจุดขายที่สามารถเป็นวิดีโอออนไลน์ได้ทั่วโลก จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนจัดตั้งทีมปั้นยูทูบให้เป็นที่รู้จัก ส่วนตัวเธอเองดูในส่วนงานวางแผนการตลาดและโฆษณา

แรกเริ่มยูทูบเป็นเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์ที่ไม่มีลูกเล่นมากนัก จึงไม่ทำกำไรเท่าไหร่ ซูซานมองว่านี่คือจุดบอดของยูทูบที่อาจทำให้หมดความนิยมในอนาคตได้ หากยูทูบยังเป็น ‘ผู้ให้’ เพียงอย่างเดียว เธอจึงตัดสินใจใช้ไม้เด็ดขั้นแรกที่จะทำให้ยูทูบติดตลาด ด้วยการนำเสนอกลายๆ ว่ายูทูบเป็นโทรทัศน์เคลื่อนที่ได้ ด้วยการเพิ่มคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ ภาพยนตร์ การ์ตูน เพลง หรือแม้แต่ How to ต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่า ยูทูบมีทุกสิ่งที่พวกเขาอยากจะรู้ สามารถเข้ามาดูเมื่อไหร่ก็ได้ วิธีการนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เป็นที่รู้จักของคนทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังสามารถทำกำไรได้จากการขายโฆษณาบนยูทูบได้อีกด้วย

เมื่อยูทูบติดตลาด ซูซานพลิกแผนการตลาดเล็กน้อย ด้วยการให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้นำเสนอบ้าง ตามคอนเซปต์ ‘Broadcast Yourself’ ที่มีการเพิ่มฟีเจอร์ Channel ขึ้นมา ทำเหมือนว่ายูทูบเป็นช่องโทรทัศน์ที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาพรีเซนต์ตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้สามารถเลือกติดตามแต่สิ่งที่สนใจเท่านั้นก็ได้ แผนการตลาดอันแยบยลนี้จะทำให้รู้ฟีดแบ็กกลุ่มผู้ใช้งานจริงว่า ลูกค้ายูทูบส่วนใหญ่เป็นใคร เพื่อที่จะได้วางแผนการตลาดขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น

แม่ทัพแห่ง YouTube ซีอีโอต้นแบบเพื่อคน Gen Z

ดูเหมือนว่าฟีเจอร์ Channel ของยูทูบจะโดนใจเด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Z เข้าอย่างจัง ส่วนหนึ่งเพราะเด็กรุ่นนี้ชอบการพรีเซนต์ตัวเองอยู่แล้ว และยูทูบก็สามารถทำให้พวกเขากลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนได้ง่ายๆ เห็นได้จากกระแสดิจิตอล เซเลบริตี้มากมายที่ต่างก็นำเสนอตัวเองผ่านทางยูทูบ โดยส่วนใหญ่มี Channel เป็นของตัวเองกันทั้งนั้น

และอีกหนึ่งสาระสำคัญที่ชาว Gen Z ตระหนักได้จากการใช้งานยูทูบก็คือ เรายังต้องเรียนรู้จากการอ่านอีกทำไม ในเมื่อเราสามารถดูเพื่อทำตามได้

ความสำเร็จในทุกวันนี้ของเว็บไซต์ยูทูบ คงต้องยกนิ้วให้กับซีอีโอสาวคนเก่ง ที่มักจะมีไอเดียล้ำๆ นำเทรนด์อยู่ตลอด ที่สำคัญคือ เธอไม่เคยปล่อยให้ไอเดียเจ๋งๆ หลุดมือ เมื่อคิดได้แล้วก็จะลงมือทำทันที ใครจะมาลอกเลียนแบบไม่ได้ เพราะหากไอเดียถูกก๊อปไปแล้ว นั่นหมายถึงว่า กำไรที่ยูทูบควรจะได้ก็หดหายลงไปด้วย เอาเป็นว่า หากชาว Gen Z ต้องการไอดอลคนเก่งสักคน ‘ซูซาน วอซซิซกิ’ ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่ดี



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : facebook.com/its.freemagazine , MBOOKSTORE,http://www.mthai.com/, www.fastcompany.com1920 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *